(เพิ่มเติม1) BM เคาะราคา IPO ที่ 2.88 บาท/หุ้น เปิดจอง 9-11 พ.ค.เข้าเทรด 17 พ.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 3, 2016 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บางกอกชีทเม็ททัล (BM) เคาะราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ที่หุ้นละ 2.88 บาท โดยจะเปิดเสนอขายในวันที่ 9-11 พ.ค.นี้ และจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 17 พ.ค.59 ใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ “BM"

ทั้งนี้ บริษัทได้แต่งตั้ง บล. โนมูระ พัฒนสิน และบริษัทหลักทรัพย์อีก 6 แห่ง ประกอบไปด้วย บล.ฟินันเซีย ไซรัส, บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย), บล.แอพเพิล เวลธ์ บล.โกลเบล็ก จำกัด บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้น (อันเดอร์ไรท์เตอร์) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญจำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

นายธานิน สัจจะบริบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BM กล่าวว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้แก่ รางเดินสายไฟฟ้า ตู้สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า ตู้โลหะ และแผงควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ตามอาคาร คอนโดมิเนียม สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม สถานีไฟฟ้า เป็นต้น ภายใต้ตราสินค้า “BSM", “BM", “BS" และ “BEST" และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปอื่นๆ จากโลหะตามความต้องการของลูกค้า และเป็นผู้จำหน่ายท่อร้อยสายไฟฟ้า เปิดเผยว่า"

บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการก่อสร้างอาคารโรงงานแห่งที่สองเพื่อขยายกำลังการผลิตเหล็กแปรรูป และขยายไลน์การผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และสนับสนุนการเติบโตของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องในอนาคต

"การระดมทุนจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจของ BM มีศักยภาพในการขยายตัวที่สูงขึ้น และเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเงินที่ได้บริษัทฯจะนำมาใช้ในการขยายกำลังการผลิตเหล็กแปรรูป และขยายไลน์การผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ตามการเติบโตธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าหากดำเนินงานได้ตามแผนจะทำให้บริษัทฯเติบโตอย่างชัดเจน" นายธานิน กล่าว

นายธีรวัต อมรธาตรี กรรมการผู้จัดการ BM กล่าวว่า บริษัทมีแผนสร้างอาคารโรงงานแห่งที่ 2 เพื่อขยายกำลังการผลิตเหล็กแปรรูป และขยายไลน์การผลิตเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการก่อสร้างอาคารโรงงานแห่งใหม่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายไตรมาส 3/59 ถึงต้นไตรมาส 4/59 โดยใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างราว 6 เดือนจึงแล้วเสร็จ และงเนิส่วนที่ที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

ส่วนแนวโน้มรายได้ปีนี้คาดว่าจะโต 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตระดับปกติของบริษัทฯ แต่หากโครงการเมกะโปรเจ็กเดินหน้าจะทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตมากขึ้น

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจท์เม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน BM กล่าวว่า BM เป็นผู้ผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน รวมถึงผลการดำเนินงานมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ BM ยังมีความสามารถในการทำกำไรที่ดี โดยในปี 55 BM มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 13.22% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ 2.52% และปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 58 อัตรากำไรขั้นต้นมาอยู่ที่ 22.22% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ 8.40% โดยที่ผลงานปี 58 มีรายได้รวม 806.13 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 67.70 ล้านบาท

ธุรกิจของ BM ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ในอนาคต จากปัจจัยด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของรัฐ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการการใช้เหล็กแปรรูปให้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตลาดของเครื่องจักรกลการเกษตรที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม AEC เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ เป็นต้น ซึ่ง BM ก็เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้กับผู้ผลิต และจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก

“BM ถือเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจ เพราะมีผลการดำเนินงานที่มีการเติบโต และมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญที่สุดคือโอกาสในการเติบโตในอนาคตที่เปิดกว้างจากการลงทุนโครงการเมกะโปรเจคของรัฐเอง หรือภาคการเกษตรที่เติบโตขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ความต้องการเหล็กแปรรูปเพิ่มสูงขึ้น" นายสมศักดิ์ กล่าว

นายนิมิตร วงศ์จริยกุล กรรมการบริหาร บล.โนมูระ พํฒนสิน กล่าวว่า ได้กำหนดราคาขายไอพีโอของหุ้น BM อยู่ที่ 2.88 บาท โดยใช้วิธีอัตราส่วนกำไรต่อหุ้นในการกำหนดราคา อีกทั้งยังมีการให้ส่วนลดกับนักลงทุนสูงถึง 69% จากราคาที่คิดคำนวณในตลาด mai โดยมีระดับ P/E อยู่ที่ 16.9 เท่า

การให้ส่วนลดที่ค่อนข้างมากนั้นเป็นเพราะราคาไอพีโอที่กำหนดมานั้นมีการเทียบเคียงกับการให้ส่วนลดไอพีโอของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันในตลาด mai อย่างเช่น บมจ.อาซีฟา (ASEFA) บมจ.แอร์โรว์ ซินดิเคท (ARROW) และบมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) ซึ่งการกำหนดราคาไอพีโอของ BM ที่ออกมาเป็นการกำหนดราคาที่เป็นไปตามความจริง ไม่ได้กำหนดราคาให้ต่ำดเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ที่มีความผันผวน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ