กสทช.ชี้แบงก์ฮั้วปล่อยเงินกู้คุมเกมประมูลคลื่น 900 MHz-เป็นเหตุ JAS เบี้ยวจ่าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 10, 2016 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานสัมมนาจิบน้ำชา : "ถอดรหัสบทเรียนประมูล 4G The series" ว่า บทเรียนที่ได้จากการประมูลคลื่น 900 MHz ในรอบที่ผ่านมาที่มีผู้เข้าประมูลทั้งสิ้น 4 ราย และมีผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ แจส โมบายฯ ไม่สามารถมาชำระเงินค่าใบอนุญาตฯได้ เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของหนังสือค้ำประกันของธนาคาร (แบงก์การันตี) ซึ่งจากการตรวจสอบของทางคณะทำงานพิจารณาความเสียหายดังกล่าว พบว่าเป็นการฮั้วกันของสถาบันการเงินในการกหนดวงเงินการปล่อยสินเชื่อไว้ก่อนที่การประมูลจะเกิดขึ้น ทำให้ส่งผลถึงผู้เข้าร่วมประมูลไม่สามารถเคาะราคาไปเกินกว่าวงเงินสินเชื่อดังกล่าว ซึ่งในกรณีแจส โมบาย มีการกำหนดวงเงินสินเชื่อ จากธนาคารกรุงเทพไว้ที่ 40,000 ล้านบาท

"แต่แจส โมบาย ได้ทลายกำแพงของการฮั้วประมูลของการปล่อยสินเชื่อ จึงทำให้แจส โมบาย ไม่สามารถหาแบงก์การันตี มาได้ตามกำหนดระยะเวลา"เลขาธิการ กสทช. กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายฐากร มองว่าการกระทำดังกล่าวของสถาบันการเงินเป็นเหมือนการกำหนดตัวผู้ชนะประมูลทางอ้อม แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่หลุดพ้นจากคำว่าทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.จะไม่ยอมให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก โดยแจส โมบาย จะต้องชำระค่าเสียหายเพิ่มเติม นอกเหนือจากการยึดเงินค้ำประกัน ทั้งค่าเสียหายที่เกิดจากการไม่ใช้งานคลื่นความถี่ 900MHz ที่ชนะประมูลไป และค่าเสียหายที่เกิดการต้องจัดประมูลใหม่

นายฐากร กล่าวว่า ความคืบหน้าของการเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มารับซองเอกสาร เพื่อเตรียมยื่นขอเข้าประมูลในวันที่ 27 พ.ค.59 ซึ่งมีผู้เข้ามารับซองดังกล่าวแล้วจำนวน 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)หรือเอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ส่วนบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ก็แสดงเจตจำนงที่จะไม่เข้าร่วมในครั้งนี้ โดยยังต้องรอดูว่าในวันที่ 18 พ.ค.นี้ จะมีผู้เข้ามายื่นขอเข้าประมูลทั้งสิ้นกี่ราย

ทั้งนี้ คาดว่าทาง AWN จะเข้าประมูลแน่นอน เนื่องจากสำนักงาน กสทช.ได้รับแจ้งและยืนยันจากเอไอเอสเข้ามาแล้วหลังจากที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติ ส่วนทรูมูฟ เอช แม้ว่าจะยังไม่มีการแจ้งเข้ามาว่าจะเข้าร่วมการประมูลหรือไม่ แต่เชื่อว่าทางบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด คงจะเข้าร่วมการประมูลเพราะส่งผู้บริหารระดับสูงเข้ารับฟังคำชี้แจงแล้ว ขณะที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค มีการประเมินถึงการลงทุนที่อยู่ในระดับที่สูงกว่ารอบแรก จึงปฎิเสธเข้าประมูลในรอบนี้

นอกจากนี้หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว คือเอไอเอส ทางสำนักงาน กสทช.ก็ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับการจัดประมูล ซึ่งผู้เข้าประมูลจะต้องมีการเคาะราคาเพื่อยืนยันเพียงครั้งเดียว ก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะการประมูลและได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900MHz โดยประเมินว่าการประมูลจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ถึงจะได้ข้อสรุป และการลงทุนที่จะเกิดขึ้นของเอไอเอสในรอบนี้จะไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการ 4G ทางสำนักงานเตรียมส่งเรื่องไปยังบอร์ดกทค. สัปดาห์หน้า เพื่อให้ทบทวนการคิดค่าโทรเป็นวินาที และการยกเลิกการปัดเศษค่าโทร รวมถึงการจัดสรรเลขหมายให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยให้มีการกำหนดให้แต่ละค่ายมือถือที่มีเลขหมาย 15% ของเลขหมายว่างไม่สามารถขอให้มีการจัดสรรเลขหมายเพิ่มได้ เพื่อให้มีการนำเลขหมายว่างออกมาใช้ให้ครบก่อน ซึ่งปัจจุบันที่เลขหมายในประเทศไทยทั้งสิ้น 170 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น 42 ล้านเลขหมายของเอไอเอส , 31 ล้านเลขหมายของทรู และ 25 ล้านเลขหมายของดีแทค ส่วนที่เหลือเป็นอื่นๆ

ส่วนแผนในการจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต ทางสำนักงาน กสทช.ได้มีการประสานกับรัฐวิสหากิจเพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลก่อนพ้นกำหนดสัญญาสัมปทาน กรณีคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่อยู่ระหว่างการขอคืนจากบมจ. อสมท. (MCOT) ซึ่งต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการได้ ส่วนคลื่นของรัฐวิสาหกิจและคลื่นความถี่ที่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ถือครองอยู่ที่มีข้อเรียกร้องให้นำคลื่นมาประมูลล่วงหน้าจะต้องมีการวางแผนและกำหนดเวลาที่เหมาะสม

ด้านนายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz รอบใหม่นี้ ถือว่ามีราคาตั้งต้นการประมูลค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ชนะการประมูลในรอบที่แล้วอย่าง ทรูมูฟ เอช ขณะที่ผู้ประกอบการอีกสองราย คือ ANW และดีแทค ไตรเน็ต ที่ก่อนหน้านี้ก็ออกมาปฎิเสธราคาเริ่มต้นประมูล ทำให้เกิดความเสี่ยง ความเสียหายของคลื่นที่อาจจะไม่สามารถขายได้ แต่ในที่สุดเอไอเอสก็ออกมาประกาศว่าจะเข้าร่วมการประมูล ก็ทำให้ภาพรวมของการแข่งขันดีขึ้น ลดความเสี่ยงที่คลื่นจะขายไม่ออกไปได้

แต่อย่างไรก็ตามก็ประเมินว่า หากผู้ชนะการประมูลเป็นทรูมูฟ เอชฯนั้น ก็อาจจะไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากบริษัทฯมีการถือครองคลื่นดังกล่าวถึงสองใบอนุญาตเพียงรายเดียว ทำให้เป็นการผูกขาดตลาดมากเกินไป โดยอยากจะแนะนำทางหน่วยงานของรัฐ ในอนาคตควรมีการจำกัดการถือครองคลื่นความถี่ในย่านที่มีมูลค่าสูง เช่น ย่าน 750,850,900 เป็นต้น ซึ่งเป็นคลื่นที่มีอยู่จำกัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ