ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร BRR ที่ “BBB-"และหุ้นกู้ที่ “BB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 24, 2016 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) ที่ระดับ “BBB-" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ “BB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่อยู่ในระดับสูงของบริษัท รวมถึงระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย และการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มกระแสเงินสดที่มั่นคงให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการมีขนาดการผลิตน้ำตาลที่ค่อนข้างเล็ก การมีโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย และโครงการก่อหนี้ที่อยู่ระดับสูง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไว้ได้ โดยที่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การดำเนินงานของบริษัทมีความผันผวนลดลง

อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ หากบริษัทมีกระแสเงินสดที่มั่นคงยิ่งขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาล นอกจากนี้ หากบริษัทสามารถบริหารจัดการอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% และเพิ่มระดับความสามารถในการชำระหนี้ให้ดีขึ้นได้เป็นระยะเวลานานก็เป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทเช่นกัน การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทมีการขยายการลงทุนจำนวนมาก จนส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนสูงกว่า 70% และระดับความสามารถในการชำระหนี้ลดลงเป็นระยะเวลานาน ก็ถือเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2506 โดยกลุ่มตระกูลตั้งตรงเวชกิจและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ เดือนมีนาคม 2559 ตระกูลตั้งตรงเวชกิจถือหุ้นในสัดส่วน 74.3% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 1 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวมเท่ากับ 24,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2558/2559 บริษัทสามารถหีบอ้อยได้ 2.06 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลได้ 238,994 ตัน คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 2.4% หากพิจารณาจากผลผลิตน้ำตาล ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดยในปีการผลิต 2558/2559 บริษัทสามารถผลิตน้ำตาล 115.98 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยที่ 103.98 กก. ต่อตันอ้อย และสูงเป็นอันดับ 4 จากโรงงานน้ำตาล 52 โรงทั่วประเทศ

บริษัทผลิตน้ำตาลทราย 2 ประเภท คือ น้ำตาลทรายขาวสีรำเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าภายในประเทศ และน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออก นอกจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย เช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและปุ๋ย โดยบริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจำนวน 16 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer - VSPP) บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ซึ่งมีกำลังการผลิตขนาด 9.9 เมกะวัตต์และคาดว่าโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ จะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงปลายปี 2559 ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของธุรกิจไฟฟ้าและปุ๋ยคิดเป็น 8%-16% ของรายได้รวมทั้งหมดในช่วงปี 2555-2558

ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2558 ดีกว่าโรงงานน้ำตาลหลายแห่ง จากการที่บริษัทมีปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลเพิ่มขึ้น 12% แม้ว่าราคาขายน้ำตาลเฉลี่ยจะปรับตัวลดลง 9% การเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 และโรงงานปุ๋ยยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้ของบริษัท รายได้รวมของบริษัทยังคงเติบโต 7% มาอยู่ที่ระดับ 4,187 ล้านบาท ในปี2558 ทั้งนี้ แม้ว่าราคาน้ำตาลจะยังคงปรับตัวลดลง แต่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 12% ในปี 2558 จาก 11.8% ในปี 2557 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรสูงมีสัดส่วนสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 566 ล้านบาทในปี 2558 จาก 487 ล้านบาท ในปี 2557 รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น 7% ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 1,481 ล้านบาท EBITDA ของบริษัทค่อนข้างทรงตัวที่ระดับ 228 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 234 ล้านบาท

หนี้เงินกู้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวสูงขึ้นจาก 58.8% ในปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 65.6% ในปี 2558 ซึ่งเกิดจากการที่บริษัทลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเท่ากับ 3.5 เท่าในปี 2558 เปรียบเทียบกับ 4.5 เท่าในปี 2556 และ 2.9 เท่าในปี 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวลดลงเท่ากับ 9.9% ในปี 2558 จาก 11.9% ในปี 2557 และ 14.4% ในปี 2556 เนื่องจากเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุน

หลังจากอุตสาหกรรมน้ำตาลเผชิญสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำมาต่อเนื่อง ในปี 2559 ราคาน้ำตาลปรับตัวดีขึ้นจากที่ประมาณการว่าน้ำตาลทั่วโลกจะเกิดภาวะขาดดุล ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% มาอยู่ที่ระดับ 14.51 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่ 13.84 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2557 ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากการบริโภคน้ำตาลทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงสต็อกน้ำตาลคงค้างที่ปรับตัวลดลง การที่ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นส่งผลดีต่อโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง รวมถึงบริษัทด้วย แม้ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในประเทศไทยจะปรับตัวลดลงถึง 11% แต่ปริมาณอ้อยเข้าหีบของบริษัทยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6% มาอยู่ที่ระดับ 2.06 ล้านตันในปีการผลิต 2558/2559 จาก 1.95 ล้านตัน ในปีการผลิต 2557/2558 จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของชาวไร่คู่สัญญา คาดว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ระดับประมาณ 700-800 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2559-2561 ตามราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นและปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นของบริษัท บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 700-1,000 ล้านบาทต่อปี โดยการลงทุนส่วนใหญ่เพื่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายขาวและสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ทั้งนี้ จากแผนการลงทุนของบริษัทและประมาณการ EBITDA คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ