Brexit: ส.นักวิเคราะห์ฯมอง Brexit กระทบไทยน้อย แต่ตลาดหุ้นอาจผันผวน,เล็งลด EPS บจ.ปี 60 จากคาดกำไรแบงก์หด

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 27, 2016 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน มองกรณีที่สหราชอาณาจักรจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) นั้นจะไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก และผลกระทบที้จะเกิดต่อประเทศไทยนั้นมีน้อยจากการที่ส่งออกไปอังกฤษไม่มากนัก แต่ตลาดหุ้นไทยอาจยังมีความผันผวนอยู่บ้าง จากหุ้นกลุ่มน้ำมันที่จะได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าหลังจากกรณี Brexit ก็จะทำให้กระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Brexit น้อยมาก ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในช่วง 1,380-1,450 จุด และควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีการลงทุนในยุโรป ขณะที่ให้เน้นการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ (Domestic Play) ที่มีความผันผวนต่ำ

ขณะที่ในส่วนของประมาณการกำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ 88.6 บาท/หุ้น แต่จะปรับลดเป้า EPS ในปี 60 ลงประมาณ 10% จากเดิมที่คาด 96 บาท/หุ้น เนื่องจากคาดว่ากำไรของกลุ่มธนาคารจะลดลงตามรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินที่จะลดลง ตามระบบค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ จำกัด กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจ หลังกรณี Brexit ว่า หลังจากนี้เป็นต้นไปน่าจะมีความไม่แน่นอนสูงมาก และอังกฤษยังจะต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย ซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาพอสมควร ถึงจะสามารถยื่นเรื่องต่อสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อลาออกจากการเป็นสมาชิกตามสนธิสัญญากรุงลิสบอน และจากนั้นน่าจะต้องใช้เวลาราว 2 ปี ในการเจรจาระหว่างอังกฤษและอียูในด้านการค้า การลงทุน และการเมือง เป็นต้น

แต่เชื่อว่าความไม่แน่นอนดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสหราชอาณาจักรไม่ได้ใช้สกุลเงินยูโร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อวิกฤตธนาคาร ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกก็ยังสามารถรับมือได้อยู่ และมีหลายธนาคารกลาง ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้าง

ทั้งนี้ เห็นว่าอังกฤษน่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง และการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หลังจากนายกรัฐมนตรี นายเดวิด คาเมรอน ลาออก ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษก็มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อช่วยประคับประคองสถานการณ์ ส่วนอียูก็จะได้รับผลกระทบรองลงมา ซึ่งการเกิด Brexit ครั้งนี้อาจนำไปสู่การล่มสลายของ European Union ส่วนการที่จะมีประเทศอื่น ๆ ออกเพิ่มอีกคงเป็นไปได้ยากในปีนี้ เนื่องด้วยประเทศต่าง ๆ ยังคงรอดูผลที่จะเกิดขึ้นก่อน

"ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Brexit คือประเทศอังกฤษเอง ซึ่งต้องรับบทหนักพอสมควรในการเจรจาการค้า การลงทุนต่าง ๆ ใหม่หมด แต่ข้อสำคัญคือการนับหนึ่งยังไม่สามารถเริ่มต้นได้ จนกว่าอังกฤษจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก่อน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวน่าจะใช้เวลาราว 3-4 เดือน โดยจากนี้ไปเราน่าจะเห็นเศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงอย่างรุนแรง จากบริษัทเอกชนที่ชะลอการลงทุนด้วยกันหมด เพื่อรอดูความชัดเจน ที่จะนำไปสู่การจ้างงาน การบริโภคอ่อนตัวลง ขณะที่รองลงมาคือ สหภาพยุโรป ที่อาจเกิดความเสี่ยงในประเทศอื่น ๆ ที่จะขอออกจากการเป็นสมาชิกเพิ่มอีก ที่อาจจะนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพยุโรปได้ แต่เชื่อว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจโลกน่าจะได้รับผลกระทบน้อย จากเศรษฐกิจอังกฤษมีขนาดเพียง 3.8% ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนถึง 25% และจีน 15% โดยสหรัฐฯน่าจะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้ เพื่อประคับประคองสถานการณ์

ขณะที่ผลกระทบต่อประเทศไทยก็ยังมีน้อยมาก จากตัวเลขการส่งออกไปยังอังกฤษที่มีราว 1.8% และรายจ่ายนักท่องเที่ยวอังกฤษคิดเป็น 5% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของนักท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวยุโรป ที่อาจจะชะลอการเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเล็กน้อย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 17% แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะรับมือกับวิกฤตดังกล่าวได้ และหลายสำนักยังไม่มีการปรับประมาณการลง

ในแง่ของการลงทุนตลาดหุ้นที่ยังมี downside มากและมีความเสี่ยงสูงสุด คืออังกฤษและยุโรป โดยระหว่างการเจรจาของทั้งสองฝ่าย สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นการชะลอการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อรอดูสถานการณ์ รวมไปถึงการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยภาคประชาชน และการจ้างงานด้วย

ส่วนตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนอยู่ แต่ผลกระทบดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก ยกเว้นหุ้นกลุ่มน้ำมัน จากค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า และความกังวลต่อนักท่องเที่ยวยุโรปที่อาจจะลดลง ขณะที่หุ้นกลุ่มอื่น ๆ น่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีอยู่ โดยเฉพาะหุ้นที่มีผลตอบแทนที่ดี ขณะเดียวกันตลาด Emerging Market ก็น่าจะได้รับอานิสงส์จากเงินทุนไหลเข้า เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลก ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นเงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้มากขึ้น จากผลตอบแทนที่ลดลง และน่าจะไหลเข้ามาสู่ตลาดเกิดใหม่

อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นไทย แนะหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จาก Brexit และหุ้นที่มีปันผลสูง เช่น หุ้นกลุ่มสื่อสารบางตัว รวมถึงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการบริโภคในประเทศ ขณะที่ควรหลีกเลี่ยงหุ้นที่ลงทุนในยุโรป หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับยุโรป และหุ้นท่องเที่ยว

ด้านนางภรณี ทองเย็น อุปนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล. เอเซีย พลัส กล่าวว่า หลังเกิดกรณี Brexit เมื่อวันศุกร์ส่งผลให้ผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันติดลบ ยกเว้นตลาดหุ้นไทยที่ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ที่ 9.7% ขณะที่กรณี Brexit ยังไม่จบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนและกดดันการลงทุนในตลาดหุ้น รวมไปถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่

หลังจากผลของสถานการณ์ Brexit คาดว่ากระแสเงินทุนจากต่างชาติจะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเกิดใหม่ ที่มีความเกี่ยวข้องกับ Brexit น้อยมาก โดยคาดว่าตลาดหุ้นไทยจะเป็นตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติมีความสนใจอยู่ เพราะยังให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับคตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน แต่ลักษณะของกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามามองว่าจะเป็นการเข้ามาในช่วงสั้นและมีการไหลออกไป อย่างเช่นในเดือนมี.ค.และเม.ย.ที่มีการซื้อจากต่างชาติเข้ามาก่อนจะไหลออกไปในช่วงเดือนพ.ค. แต่ปัจจุบันยังเป็นมียอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 855 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทยมองกรอบอยู่ที่ 1,380-1,450 จุด ระดับ P/E อยุ่ที่ 16 เท่า โดยกลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้เน้นการลงทุนในหุ้นประเภท Domestic Play ที่มีความผันผวนต่ำ มีระดับ P/E อยู่ในระดับต่ำ และมีกระแสเงินสดที่มั่นคงพร้อมให้เงินปันผลสูง อย่างเช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยแนะนำกองทุนที่มีความโดเด่น เช่น CPNRF ,TFUND เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีหุ้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ อย่างเช่น ความคืบหน้างานก่อสร้าง และการให้เงินช่วยเหลือภาคเกษตร ยังมีความน่าสนใจลงทุน ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากผลการ Brexit ได้แก่ IVL ที่มีสัดส่วนรายได้และต้นทุนในรูปสกุลเงินยูโรกว่า 20% และ TU ที่มีการส่งไปไปยังสหภาพยุโรปถึง 14% ซึ่งหุ้นทั้ง 2 ตัว อาจจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่า ในทางตรงกันข้ามก็มีหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากค่าเงินยูโรอ่อนค่า คือ BJC ที่มีหนี้สินเป็นสกุลเงินยูโรสูงถึง 51% ของหนี้รวม 2.4 แสนล้านบาท จากการซื้อหุ้น BIGC ซึ่งบริษัทมีการทำการป้องกันความเสี่ยงอยู่บางส่วน แต่สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ BJC

นางภรณี กล่าวอีกว่า สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนจะปรับลดประมาณกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 60 ลดลงราว 10% จากที่ประมาณการณ์เดิมที่ 96 บาท/หุ้น เนื่องจากกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะลดลงราว 10% หลังสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ และค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตลดลงจากการปรับระบบค่าธรรมเนียมรูปแบบใหม่ของธปท. ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะได้รับผลกระทบในปี 60 เต็มปี โดยค่าธรรมเนียมในส่วนนี้คิดเป็น 30% ของรายได้สุทธิของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลเป็นปัจัยที่มีน้ำหนักกระทบกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมทั้งตลาด ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ยังคงเดิมอยู่ที่ 88.6 บาท/หุ้น

ด้านนายเกียรติศักดิ์ เจนวิภากุล กรรมการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และกรรมการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบของ Brexit ยังถือว่าไม่แน่นอนในระยะสั้น ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดหุ้นทั่วโลกได้ โดยหากจะประเมินถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมี 3 ส่วนที่ได้รับผลกระทบ คือ 1.การค้าขาย ซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยุโรป ราว 10 % แต่เป็นสัดส่วนที่ถือว่าน้อยมาก ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม เช่น การส่งออกพริ้นท์เตอร์และแฟกซ์ที่มีสัดส่วนส่งออกไปยุโรปสูงถึง 30% และการส่งออกฮาร์ดดิสไดรฟ์ และอาหารสัตว์ไปยุโรปก็มีสัดส่วนที่สูงถึง 20%

2.ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยคิดเป็นสัดส่วน 19% เป็นอันดับสองรองจากจีนที่คิดเป็นสัดส่วน 27% แต่ในการใช้จ่ายนั้นนักท่องเที่ยวยุโรปมีสัดส่วนการใช้จ่ายมากที่สุดถึง 28% ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวบ้างพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีรายได้จากการเข้าพักของนักท่องเที่ยวยุโรปที่สูง เพราะนักท่องเที่ยวยุโรปส่วนใหญ่เดินทางเข้ามาพักแบบระยะยาว และ 3.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) อาจจะกระทบบ้าง เนื่องจากนักลงทุนจากยุโรปมีการลงทุนในประเทศเป็นอันดับ 2 รองจากนักลงทุนญี่ปุ่น หรือคิดเป็นสัดส่วน 22% ซึ่งหลังจากนี้คาดว่านักลงทุนจากยุโรปจะเกิดการชะลอการลงทุนขึ้น หลังจากค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง แต่อย่างไรก็ตาม FDI ถือว่ามีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ค่อย ๆ ลดลงในอนาคต ทำให้ในระยะยาวจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ