LPN-PS ไม่สนเข้าร่วมประมูลบ้านธนารักษ์ฯวันพรุ่งนี้ เหตุกังวลยอดลูกค้า,A เดินหน้าเข้าประมูล ลุ้นได้งานบ้าง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 29, 2016 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยนั้น กลับได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จะเข้าร่วมก่อสร้างโครงการดังกล่าวน้อยลง แม้จะมีเอกชน 16 รายสนใจมาซื้อซองประกวดราคาก่อสร้างโครงการก็ตาม แต่ก็อาจจะมีเอกชนเข้ามายื่นเสนอประกวดราคาในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) ไม่ครบทั้งหมด หลังล่าสุดผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อย่างน้อย 2 ราย คือ LPN และ PS จะไม่เข้าไปยื่นประมูลโครงการดังกล่าว ส่วน A ยังคงเดินหน้าเข้าร่วมประมูลแต่คาดหวังว่าจะได้งานไม่ครบทั้งหมดที่ยื่นประมูล ขณะที่โบรกเกอร์มองเอกชนอาจกังวลโครงการมีปัญหาซ้ำรอยบ้านเอื้ออาทร

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เปิดเผยว่า บริษัทได้ตัดสินใจถอนตัวจากการเข้าร่วมยื่นซองประมูลโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ เนื่องจากเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าของโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทตัดสินใจถอนตัวจากการยื่นซองประมูลในวันพรุ่งนี้

ด้านนายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐตั้งแต่ตอนแรกแล้ว เนื่องจากบริษัทเห็นว่าโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐเป็นการจ้างก่อสร้างโครงการ ขณะที่บริษัทเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งโครงการดังกล่าวน่าจะมีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างในการเข้าร่วมประมูลมากกว่า

อีกทั้งที่ดินของโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐเป็นที่ดินของราชพัสดุ ทำให้ไม่สามารถขายได้ ซึ่งทั้ง 2 เหตุผลเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทเห็นว่าไม่ควรเข้ายื่นซองประมูล

ส่วนแหล่งข่าวจากบมจ.อารียา พรอพเพอร์ตี้ (A) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าการเข้าร่วมยื่นซองประมูลโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐในวันพรุ่งนี้ โดยบริษัทจะยื่นซองประมูลในทำเลที่สนใจทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่คาดว่าผลการประมูลที่จะออกมาบริษัทอาจจะไม่ได้ถูกเลือกเป็นผู้ดำเนินการของโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐที่บริษัทยื่นซองประมูลไปทั้งหมด

อนึ่ง รัฐบาลได้ดำเนินโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสผู้ให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งข้าราชการที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิในที่อยู่อาศัยมาก่อนให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง โดยระยะแรกได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐสนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนทั้งสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้พัฒนาโครงการ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองหรือซ่อมแซมต่อเติม โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งในส่วนของผู้ซื้อ และผู้ประกอบการที่อยู่อาศัย โดยในส่วนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนั้นจะต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท/หน่วย

หลังจากนั้นรัฐบาลได้ขยายการดำเนินการด้วยการทำบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยได้จัดทำโครงการนำร่อง 6 แปลง ในพื้นที่เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แปลง ,ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 1 แปลง ,อ.แม่จัน จ.เชียงราย 1 แปลง และอ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จำนวน 2 แปลง

ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาซื้อเอกสารประกวดราคาเพื่อดำเนินโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีเอกชนรวมทั้งสิ้น 16 รายที่มาซื้อเอกสารประกวดราคา โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงผู้รับเหมารายใหญ่อย่างบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการต้องเสนอราคาในวันพรุ่งนี้ หลังจากนั้นทางกรมธนารักษ์จะพิจารณาถึงข้อเสนอที่เอกชนยื่นมา อาทิ รูปแบบโครงการ การลงทุน โดยคาดว่าภายในเดือนก.ค.จะประกาศรายชื่อเอกชนที่มีสิทธิ์เข้าไปพัฒนาโครงการในแต่ละพื้นที่ได้

นายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อาจจะไม่ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐมากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความกังวลว่าการเข้าร่วมโครงการอาจจะทำให้มีปัญหาเหมือนในช่วงที่มีผู้ประกอบการบางรายได้เข้าร่วมทำโครงการบ้านเอื้ออาทรเมื่อหลายปีก่อนและไม่ประสบความสำเร็จ โดยบางรายอาจต้องมีการตั้งสำรองจำนวนมากจากกรณีดังกล่าวด้วย อีกทั้งผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องศึกษาทำเลที่ตั้ง กำลังซื้อ และเงื่อนไขการลงทุนในโครงการให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาการเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหวังที่จะระบายสต็อกสินค้านั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละรายทำยอดขายได้น้อยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีสาเหตุหลักคือ อุปสรรคจากการกู้ไม่ผ่าน แม้ว่าทางการจะใช้ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์มาช่วยแล้วก็ตาม ก็แสดงว่าแม้จะผ่อนเกณฑ์แล้วแต่คุณภาพสินเชื่อลูกค้านั้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำ หรือขาดเอกสารทางการเงิน เพราะเป็นตลาดระดับล่าง

"ลักษณะของโครงการเป็นโครงการที่มีเจตนาดีที่จะช่วยผู้มีรายได้ปานกลางถึงระดับล่างให้มีที่อยู่อาศัย แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ก็มีบางส่วนที่คล้ายคลึงกับโครงการบ้านเอื้ออาทร...ส่วนการเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐที่สามารถทำยอดขายได้ต่ำกว่าเป้านั้นก็มีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอสังหาฯเหล่านั้นเปลี่ยน เพราะเดิมผู้ประกอบการตั้งใจจะระบายสต็อกออกมาเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดนำไปลงทุนต่อไป แต่เมื่อไม่ได้ตามเป้าก็มีผลกระทบบางส่วน แต่ไม่ถึงกับมากเพราะรายได้ส่วนใหญ่ไม่ได้พึ่งพิงยอดขายจากบ้านประชารัฐเป็นหลัก"นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เริ่มกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนหลังจากเกิดกรณีที่อังกฤษจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้นักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ (Domestic Play) ประกอบกับหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในเกณฑ์ดีที่ค่าเฉลี่ย 5-6% ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อในลักษณะของ Selective Buy ในหุ้นที่มีพื้นฐานดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ