PTT เผยจะใช้แนวทางปรับปรุงโรงไฟฟ้าจะนะรับมือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มในก๊าซ JDA

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 6, 2016 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิกร สติฐิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่จัดหาและตลาดก๊าซธรรมชาติ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้หารือร่วมกัน และกำหนดแนวทางเพื่อรับมือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นของแหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่แหล่งเจดีเอ เอ-18 พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย

โดยมอบหมายให้ใช้แนวทางการปรับปรุงโรงไฟฟ้าจะนะให้สามารถรับก๊าซฯ ที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าและใช้ระยะเวลาดำเนินการสั้นกว่าการติดตั้งหน่วยแยกคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและก่อให้เกิดต้นทุนต่อประเทศต่ำที่สุด เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ไทยนำก๊าซฯจากแหล่งเจดีเอ เอ-18 มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา เมื่อปี 51 โดยการเจาะหลุมผลิตใต้ดิน ณ แหล่งเจดีเอ เอ-18 ซึ่งพบว่าหลายหลุมผลิตมีคาร์บอนไดออกไซด์แตกต่างกัน ดังนั้น ในสัญญาซื้อก๊าซฯ กับผู้ผลิตก๊าซฯ จึงมีการกำหนดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิน 23% ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับสัญญาซื้อก๊าซฯ กับผู้ผลิตก๊าซฯ รายอื่น ๆ โดยในกรณีของแหล่งเจดีเอ เอ-18 ได้มีการหารือแผนดำเนินการที่เหมาะสมไว้แล้ว

คุณภาพก๊าซฯ จากแหล่ง เจดีเอ เอ-18 ในช่วงแรกมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิน 18% กฟผ. และ ปตท.จึงเห็นชอบร่วมกันที่จะใช้ก๊าซฯ โดยไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ และไม่ลงทุนติดตั้งหน่วยแยกคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น เพื่อชะลอภาระต้นทุนของผู้ใช้ไฟฟ้า โดย ปตท.ได้ใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดในขณะนั้นประมาณการคุณภาพก๊าซฯ ให้กฟผ.เพื่อใช้ในการออกแบบและประมูลโรงไฟฟ้า รวมทั้งมีการตกลงกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่างกันว่า หากในอนาคตคุณภาพก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงไปตามที่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ จะมีการติดตั้งหน่วยแยกคาร์บอนไดออกไซด์ในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พบว่าคุณภาพก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะมีแนวโน้มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในบางช่วงมีปริมาณเกินกว่า 23% ทำให้ทุกฝ่ายต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว

"การนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย มาใช้งานตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่งคงด้านพลังงาน แม้ว่าคุณภาพก๊าซฯ ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า รวมทั้งปัจจุบัน กระทรวงพลังงานได้ให้ความอนุเคราะห์ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าการจัดการคุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายน้อยที่สุด"นายวุฒิกร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ