KKC กัดฟันคงเป้ารายได้ปีนี้โต 5-10% เลื่อนขยายผลิตมอเตอร์ใหญ่ใหญ่ไปปลายปี 59 หรือต้นปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 12, 2016 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนะชัย กุลนพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.กุลธรเคอร์บี้ (KKC) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ในปีนี้เติบโต 5-10% จากปี 58 ที่มีรายได้ 1.07 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งมีผลกระทบทำให้รายได้ในไตรมาส 1/59 ที่ทำได้ 2.6 พันล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปีก่อน

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/59 คาดว่ารายได้ปรับลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1/59 เล็กน้อย ถึงแม้จะเป็นช่วงหน้าร้อนที่น่าจะส่งผลดีต่อยอดขายเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น แต่ลูกค้าที่เป็นโรงงานผลิตส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าไปสต๊อกไว้เพื่อผลิตสินค้าตั้งแต่ไตรมาส 1 เพื่อนำออกมาขายในไตรมาส 2 ทำให้ปกติยอดขายไตรมาส 1 จะดีกว่าไตรมาส 2 อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายอดขายจะไปเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3-4/59

"เราได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าลดลง บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบด้วย ส่วนทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต ธุรกิจก็ไม่แน่นอน แต่ทุกคนก็อยากขายของเยอะ ซึ่งทั้งปีต้องดูตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการแข่งขัน เพราะจีนยังทรง ๆ ถึงปรับลง อาเซียนมีผลกระทบจากจีนพอควร"นายชนะชัย กล่าว

นายชนะชัย กล่าวว่า สำหรับราคาทองแดงในตลาดโลกที่ปรับตัวลงสู่ระดับต่ำ แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ในการทำให้ต้นทุนปรับลดลง เพราะทองแดงเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสินค้าประเภทกมอเตอร์คอมเพรสเซอร์เครื่องทำความเย็น แต่ปรากฎว่าลูกค้าก็เจรจาต่อรองให้บริษัทลดราขายลงเช่นกัน

ประกอบกับ เงืนบาทอ่อนค่าก็ทำให้บริษัทก็ต้องลดราคาขายสินค้าลงด้วย โดยบริษัทมีสัดส่วนยอดขายในต่างประเทศ 65-75% และตลาดในประเทศ 25-35% ซึ่งเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้บริษัทได้รับประโยขน์จากการขายสินค้าสำเร็จรูป แต่ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจึงมีรายจ่ายเงินบาทเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าเงินบาทที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ขึ้นไปจะเป็นประโยชน์ เพราะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่ช่วยส่งเสริมผลประกอบการของบริษัทและความสามารถในการทำกำไร

"จากการอ่อนตัวของค่าเงินบาท และราคาวัตถุดิบแนวโน้มลดลง แม้จะมีผลดีต่ออัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทและความสามารถในการทำกำไร แต่บริษัทยังต้องเผชิญกับการปรับราคาให้ลูกค้าด้วย ซึ่งก็มีผลกระทบต่อผลประกอบการ คงต้องรอดูก่อน แต่ก็ทำให้คาดการณ์มาร์จิ้นได้ลำบาก บริษัทก็อยากได้มากที่สุด"นายชนะชัย กล่าว

ส่วนผลประกอบการของบริษัทในเครือนั้น เนื่องจากธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ไม่ได้หวือหวามาก แต่ทรงตัว บางบริษัทก็กำไรมาก บางบริษัทมีกำไรน้อย และยอมรับว่าบางบริษัทก็ยังมีผลขาดทุนอยู่ ขึ้นอยู่กับการบริโภคของลูกค้าว่าจะซื้อสินค้ากลุ่มใดมาก ซึ่งก็มีผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของ KKC ด้วย

ปัจจุบัน KKC มีบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท กุลธรแมททีเรียลส์แอนด์คอนโทรลส์ จำกัด(KMC), บริษัท กุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด(KMP) และ บริษัท กุลธรพรีเมียร์ จำกัด(KPC)

นายชนะชัย กล่าวถึงโครงการลงทุนขยายกำลังการผลิตมอเตอร์คอมเพรสเซอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่ วงเงินลงทุน 300 ล้านบาทว่า โครงการนี้คงต้องเลื่อนการรับรู้รายได้ออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มรับรู้ฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค.59 เนื่องจากมีความล่าช้าในขั้นตอนการจัดซื้อเครื่องจักร จากปัญหาด้านเทคโนโลยีและภาวะเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทต้องจัดพอร์ตลงทุนใหม่

ดังนั้น คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มลงทุนได้ช่วงปลายปี 59 หรือต้นปี 60 เมื่อซื้อเครื่องจักรเข้ามาครบก็น่าจะรับรู้รายได้เข้ามาจากกำลังการผลิตใหม่ที่จะมาเสริมราว 5.8 แสนลูก/ปี จากกำลังผลิตเดิมอยู่ที่ 4 ล้านลูก/ปี

"ที่ต้องเพิ่มกำลังการผลิตเพราะเป็นรุ่นที่ขายดี ซึ่งสินค้าเรามีมากรุ่น รุ่นที่ขายดีก็ต้องเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งปีนี้ยังไม่ได้รับรู้รายได้ แต่จะเร่งการลงทุนให้ครบโครงการก่อน"นายชนะชัย กล่าว

ส่วนผลกระทบ Brexit ไม่มีผลกับบริษัท หรือหากมีก็น้อยมาก ผลกระทบอาจจะอยู่ในรูปแบบแบบลูกโซ่กับการขายสินค้าเกี่ยวเนื่อง ขณะที่ตลาดหลักๆ ยังเป็นอาเซียนและจีน โดยเฉพาะในอาเซียนถือว่าบริษัทส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ