GPSC คาดกำไร Q2/59 ดีกว่างวดปีก่อนหนุนทั้งปีกำไรโต,นักลงทุนสถาบันถือหุ้นราว 10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 20, 2016 08:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดกำไรไตรมาส 2/59 จะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังรับรู้ผลประกอบการของโครงการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ (IRPC-CP) ที่เริ่มผลิตในเดือน พ.ย.58 รวมถึงโรงไฟฟ้านวนคร เริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือน มิ.ย. พร้อมเดินหน้าลงทุนตามแผนให้ได้ตามเป้าผลิตไฟฟ้า 1,922 เมกะวัตต์ภายในปี 62 และมองหาโอกาสลงทุนใหม่ทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะในระยอง ปรับแผนผลิตเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง (RDF) ออกสู่ตลาดก่อนระหว่างรอหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจากภาครัฐ พร้อมมองการออกไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันมีความเข้าใจธุรกิจและเชื่อมั่นต่อศักยภาพของบริษัทจนเข้ามาถือหุ้นในบริษัทเป็นราว 10% แล้ว

นายเติมชัย บุนนาค กรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า แนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/59 คาดว่าจะดีขึ้นจากระดับ 473.71 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากการรับรู้ผลประกอบการของโครงการ IRPC-CP เฟส 1 ที่ถือหุ้นอยู่ 51% ที่เริ่มเดินเครื่องผลิตในเดือน พ.ย.58 ขณะที่รับรู้ผลประกอบการโรงไฟฟ้านวนคร ขนาด 125 เมกะวัตต์ ที่ถือหุ้นอยู่ 30% ซึ่งเริ่มขายไฟฟ้าและไอน้ำในเชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย.อีกเล็กน้อยในไตรมาสนี้

ทั้งสองโครงการดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ผลกำไรในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และผลักดันให้ทั้งปี 59 มีกำไรสุทธิดีกว่าระดับ 1.9 พันล้านบาทในปีที่แล้วด้วย นอกจากนี้ในปีนี้ยังมีลูกค้าจากโครงการฟีนอล 2 ของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) เข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย

"ผลประกอบการปีที่ผ่านมาเราทำได้ประมาณ 1.9 พันล้านบาท ไตรมาสแรกอย่างเดียวหลังจากที่เราเข้าไปดูเรื่อง optimization ต่าง ๆ นานา และมีธุรกิจ SPP เข้ามาเสริมเรื่องของตัว IRPC clean เข้ามาเต็มที่ เราก็ทำได้เกือบ 900 ล้านบาทในไตรมาสแรก ซึ่งปีนี้ทั้งปีแน่นอนต้องดีกว่าปีที่แล้ว ทุก ๆ ไตรมาสก็จะประกาศออกมา ไตรมาส 2 ยังไม่ได้ประกาศ ก็แน่นอนว่าดีขึ้น เกินความคาดหมายของนักวิเคราะห์ ทำให้หุ้นของเรา outperform คนอื่นพอสมควร คือ 1. มาถูกทาง 2. ที่เขาหวังว่าเราจะทำเราก็ทำได้ดีกว่าที่คาด การที่หุ้นดีขึ้นก็น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ด้วย"นายเติมชัย กล่าว

นายเติมชัย กล่าวว่า ขณะที่แผนงานในอนาตบริษัทมุ่งเป้าในธุรกิจที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าประเภทโคเจนเนอเรชั่นที่จะได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำจะช่วยสร้างมาร์จิ้นได้ดีกว่าการขายไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันบริษัทยังมองหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่ต้องการขายกิจการ ซึ่งแม้จะมีผู้เสนอโครงการเข้ามาแต่บริษัทยังไม่เห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจมากนัก รวมถึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านวนคร เฟส 2 ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ บริษัทยังให้ความสนใจลงทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ร่วมเสนอขายไฟฟ้าตามโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพร้อมจะยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่รัฐบาลจะเปิดรับซื้อใหม่เพิ่มเติมด้วย

ขณะที่โรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ขนาด 6-8 เมกะวัตต์ ในจ.ระยอง ที่อยู่ระหว่างศึกษานั้น ขณะนี้ได้แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะเป็นการผลิตเชื้อขยะ (Refuse Derived Fuel:RDF) มูลค่าโครงการกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจะแล้วเสร็จในต้นปี 61 ส่วนระยะที่ 2 เป็นการตั้งโรงไฟฟ้าขยะ คาดว่าจะใช้เวลายังต้องรอกฎระเบียบจากภาครรัฐก่อน และต้องใช้เวลาก่อสร้างอีกราว 2 ปี เมื่อรวมทั้งโครงการจะมีมูลค่าลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนร่วมทุนที่เดินเครื่องผลิตแล้วราว 1,300 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ทั้งหมด 1,922 เมกะวัตต์ โดยกำลังผลิตส่วนที่เหลือจะทยอยเดินเครื่องได้ทั้งหมดตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 62 คาดว่าจะใช้เงินอีกราว 8 พันล้านบาทเพื่อทยอยลงทุนดังกล่าว ได้แก่ โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซล่าร์สหกรณ์ ผ่านบริษัทในเครือ ที่บริษัทถือหุ้น 100% เป็นผู้ดำเนินโครงการ มีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนธ.ค.59

โครงการ IRPC-CP ระยะที่ 2 ขนาด 240 เมกะวัตต์ ,บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ระยะที่ 2 ขนาด 117 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 25% ,โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ichinoseki Solar Power 1 GK (ISP1) ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 20.8 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 99% โดยทั้ง 3 โครงการจะ COD ในปี 60 ,ส่วนในปี 61 จะมีโครงการที่ COD ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมกลุ่มปิโตรเคมี (CUP4) ตั้งอยู่บริเวณนิคมเอเชีย จังหวัดระยอง กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% ,โรงไฟฟ้าไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1 จำกัด ในลาว ขนาด 65 เมกะวัตต์ ถือหุ้นอยู่ 40% ขณะที่มีโครงการที่จ COD ในปี 62 ได้แก่ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี พาวเวอร์ ในลาว ขนาด 1,285 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 25%

นายเติมชัย กล่าวว่า โอกาสการขยายการลงทุนในต่างประเทศนั้น บริษัทให้ความสนใจการลงทุนในลาว ,อินโดนีเซีย ,เวียดนาม และเมียนมา โดยการลงทุนนั้นจะเกาะกลุ่มไปกับกลุ่มปตท.ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยในลาวปัจจุบันมีอยู่ 2 โครงการก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่ในอินโดนีเซียนอกจากโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพที่บริษัทยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะสินทรัพย์ (due diligence) แล้วก็ยังมองโอกาสการทำโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปัจจุบันมี ปตท.เข้าไปทำธุรกิจถ่านหินอยู่ด้วย และในเวียดนามก็มีโอกาสจากการจะเข้าไปลงทุนของกลุ่มปตท.ที่จะเข้าลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีเช่นเดียวกัน

ส่วนในเมียนมา ปัจจุบันบริษัทมีบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) ใน 3 โครงการ โดยมี 2 โครงการที่มีความก้าวหน้าและนำเสนอโครงการให้ทางเมียนมาต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ขนาด 400 เมกะวัตต์ และ 500 เมกะวัตต์ตามลำดับ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,800-2,000 เมกะวัตต์นั้นยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสนใจลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) จากพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากปัจจุบันได้เข้าไปถือหุ้นราว 16% ในบริษัท 24M Technologies,Inc.(24M) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐที่ทำการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ โดยปัจจุบันผลงานวิจัยที่ออกมาทำให้มีบริษัท NEC จากญี่ปุ่นให้ความสนใจสั่งซื้อสินค้าแล้วบางส่วนซึ่งจะต้องส่งมอบในปี 61 ซึ่งหากมีแนวโน้มการตลาดที่ดี ก็ทำให้มองโอกาสที่จะมีการจัดตั้งโรงงานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งบริษัทก็จะเจรจาเพื่อที่จะให้มีการจัดตั้งโรงงานดังกล่าวในประเทศไทยต่อไป

นายเติมชัย เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาถือหุ้นบริษัทกว่า 10% แล้ว จากเดิมที่เสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) มีแต่นักลงทุนรายย่อยเข้ามาถือทั้งหมด โดยการเข้ามาถือหุ้นของนักลงทุนสถาบันเชื่อว่าเป็นผลจากการที่รู้จักและเข้าใจธุรกิจของบริษัทมากขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้ออกไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) หลายแห่งทั้งในสิงคโปร์ ,สหรัฐฯ และยังมีแผนจะออกไปโรดโชว์ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังปีนี้ด้วย

อนึ่ง หุ้น GPSC ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์อยู่ที่ 37.50 บาท นับแต่ต้นปีราคาหุ้นปรับขึ้นราว 69% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นราว 16%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ