GENCO คาดปีนี้กำไรสุทธิพุ่งจากปีก่อน หลังรายได้โตตามปริมาณกำจัดกากฯ,เล็งลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 21, 2016 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรณชัย ตันตระกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" โดยคาดว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเพิ่มขึ้นมากจาก 6.72 แสนบาทในปีที่แล้ว เนื่องจากปีนี้ไม่มีการตั้งด้อยค่ามากเหมือนในปีก่อน อีกทั้งบริษัทยังควบคุมต้นทุนการดำเนินการได้ดี ขณะที่ปริมาณกำจัดกากอุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นราว 10% ซึ่งมีส่วนผลักดันให้รายได้รวมในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นมาที่ 400 ล้านบาท จากราว 366 ล้านบาทในปีก่อน

ขณะที่ บริษัทเตรียมแผนรุกธุรกิจพลังงานเต็มตัว โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจหลัก ซึ่งคาดหวังว่าจะได้สร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอย่างน้อย 1 แห่ง ขนาด 10 เมกะวัตต์ จากการยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวมากกว่า 1 แห่งภายในเดือน ส.ค.ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเปิดรับข้อเสนอ

"ปีที่แล้วเราทำกำไรสุทธิได้แค่ 6 แสนกว่าบาท เพราะมีการด้อยค่าตัดบางอย่างไปเยอะ แต่ปีนี้จะถ้าจะมีตัดก็ส่วนน้อย ภาพหลัก ๆ มาจากผลประกอบการล้วน ๆ จะเป็นปีแรกที่เห็น GENCO เป็นเนื้อเป็นหนังอย่างแท้จริงหลังจากฝ่ายบริหารหาวิธีสะสางที่เน่าออกไป ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปก็จะเห็นผลประกอบการที่ชัดเจน...รายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% และ bottom line ก็จะดีกว่าปีที่แล้วหลายร้อยเท่า"นายรณชัย กล่าว

ทั้งนี้ GENCO อยู่ระหว่างเตรียมประกาศผลประกอบการในไตรมาส 2/59 หลังจากงวดไตรมาส 1/59 มีกำไรสุทธิแล้ว 6.79 ล้านบาท และมีรายได้รวมราว 107 ล้านบาท

นายรณชัย กล่าวว่า รายได้ของบริษัทในปีนี้ส่วนใหญ่ยังมาจากธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งภาพรวมในตลาดมีอยู่ราว 2 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัทคาดว่าจะไดรับงานกำจัดกากอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นราว 10% จาก 6-7 หมื่นตันในปีที่แล้ว หลังจากที่ภาครัฐเข้มงวดให้โรงงานต่าง ๆ กำจัดกากอุตสาหกรรมตามระบบมากขึ้น แม้ว่าต้นทุนการกำจัดกากฯของบริษัทจะสูงกว่าคู่แข่งก็ตาม แต่เนื่องจากมีกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้ถือหุ้นรวมกันประมาณ 15% และการที่มีระบบกำจัดที่ถูกวิธี ทำให้เชื่อว่าจะมีปริมาณกากฯเข้ามามากขึ้นจากเดิมที่มีอัตราการเติบโตของปริมาณกากฯราวปีละ 4-5% เท่านั้น

นอกจากนี้ การปรับกลยุทธ์ของบริษัทด้วยการลดต้นทุนในช่วงที่ผ่านมา และไม่แย่งตลาดที่ไม่มีกำไร ภายใต้การตรึงราคาค่าบริการกำจัดกากฯในอัตราเดิม แม้ค่าใช้จ่ายด้านสารเคมีจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ด้วยปริมาณกากฯที่เข้าสู่ระบบมีมากขึ้น ทำให้บริษัทสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นในปีนี้ได้ที่ระดับ 36-40% ทรงตัวจากปีที่แล้ว สูงขึ้นจากอดีตที่อัตรากำไรขั้นต้นเคยอยู่ที่กว่า 20% เท่านั้น

ส่วนรายได้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้คงมีไม่มากนัก เนื่องจากการก่อสร้างบางโครงการก่อสร้างล่าช้าออกไปจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งเลื่อนมาแล้วเสร็จช่วงปลายปีนี้ ทำให้บริษัทจะต้องเปิดขายโครงการได้ช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า ส่งผลให้รายได้จากอสังหาริมทรัพย์จะเข้ามาชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีโครงการคอนโดมิเนียม บีลีฟ เฟส 1 มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันเปิดขายโครงการอยู่ ส่วนเฟส 2 มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท เลื่อนออกไปเพื่อรอดูสถานการณ์ของตลาด

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการพัฒนาโครงการอาคารพาณิชย์ 2 โครงการที่บางใหญ่ และสามโคก มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท และยังมีที่ดินที่เอกมัยจำนวน 1 ไร่ที่รอการพัฒนา คาดว่าจะสามารถสรุปโครงการที่ชัดเจนได้ในปีหน้าเช่นกัน

นายรณชัย กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนรุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อต่อยอดธุรกิจหลัก ล่าสุดได้ตั้งบริษัทย่อย 2 แห่ง และเปิดกว้างหาพันธมิตรที่สนใจเข้าร่วมดำเนินการเพื่อช่วยเกื้อหนุนธุรกิจให้เติบโตในอนาคต

สำหรับโครงการแรกที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ คือ โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ที่บริษัทเตรียมจะยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าตามที่ กกพ.จะเปิดรับข้อเสนอในเดือนส.ค.นี้รวม 50 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีปริมาณกากอุตสาหกรรมที่พร้อมจะดำเนินการได้ทั้งหมด และคาดว่าจะยื่นข้อเสนอมากกว่า 1 โครงการ แต่ก็คาดหวังว่าจะได้รับการคัดเลือกอย่างน้อย 1 โครงการ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ หากได้รับคัดเลือกบริษัทก็จะใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท/โครงการ คาดว่าจะเริ่มลงทุนในปีหน้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในกำหนดวันที่ 31 ธ.ค.62

นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากไบโอแมสอื่น ๆ ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ที่มองว่าโอกาสการลงทุนคงมีความเป็นไปได้น้อย เพราะมีความเกี่ยวข้องทางด้านการเมือง

"เรายังคงมุ่งเน้นธุรกิจหลักคือการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งจะช่วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ในอนาคตก็จะมีธุรกิจผลิตไฟฟ้าเข้ามาเสริมเพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจ"นายรณชัย กล่าว

นายรณชัย กล่าวอีกว่า เบื้องต้นระหว่างที่การผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมยังไม่มีความชัดเจนนั้น บริษัทก็ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานเพื่อผลิตเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel:RDF) มูลค่า 200 ล้านบาท ซึ่งมาจากขยะกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย

ทั้งนี้ โรงงานของบริษัทจะมีกำลังผลิต RDF ราว 200 ตัน/วัน จากปริมาณขยะไม่ถึง 1 แสนตัน/ปี เริ่มผลิตต้นปี 60 ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะจำหน่ายให้กับลูกค้ากลุ่มโรงปูนซีเมนต์ก่อน ขณะเดียวกันยังมองหาการสร้างโรงงาน RDF แห่งที่ 2 ขนาด 200 ตัน/วัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณขยะกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายในตลาดมีอยู่จำนวนมากราว 30 ล้านตัน/ปี

นายรณชัย กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานดำเนินงานในปีหน้าคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยรายได้อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1 พันล้านบาท หลังจะมีรายได้จากการขาย RDF เข้ามาเสริมรายได้การกำจัดกากอุตสาหกรรม รวมถึงมีรายได้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ามาเพิ่มขึ้นจากการเปิดขายโครงการที่แล้วเสร็จ ทำให้คาดว่าสัดส่วนรายได้ในปีหน้าจะมาจากการบำกำจัดกากอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ ในสัดส่วน 50:50 จากปีที่แล้วที่มีรายได้จากกำจัดกากอุตสาหกรรมราว 72% และอสังหาริมทรัพย์ราว 26% ส่วนที่เหลือเป็นอื่น ๆ

ขณะที่เงินลงทุนในปีหน้าคาดว่าจะใช้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท หากได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม และอาจจะมีการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิต RDF เพิ่มเติมด้วย โดยเงินทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้โครงการ (project finance) ซึ่งบริษัทยังมีศักยภาพในการกู้อยู่มาก เนื่องจากมีภาระหนี้สินต่ำกว่า 100 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ