ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TK ที่ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 25, 2016 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน (TK167A และ TK173A) ของ บมจ. ฐิติกร (TK) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์และคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ ยังสะท้อนความสามารถในการดำรงสถานะผู้นำตลาดของบริษัท การมีตลาดที่กว้างขวางผ่านเครือข่ายสาขาจำนวนมาก และการมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลักเพียงประเภทเดียวคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ รวมถึงการมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมยังอาจจำกัดแผนการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ รวมถึงการมีเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและเสริมสร้างผลประกอบการทางการเงินให้แข็งแกร่งต่อไปได้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าคุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2559 และในปีถัด ๆ ไป

การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตขึ้นอยู่กับพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและฐานทุนของบริษัท

สินเชื่อของ TK เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2550-2556 โดยเพิ่มขึ้นจาก 5,196 ล้านบาทเป็น 9,624 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 10.8% อย่างไรก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจขาลงที่ผ่านมาสินเชื่อของบริษัทหดตัวลงถึง 13.7% เป็น 8,303 ล้านบาทในปี 2557 และลดลงอีก 6.4% เป็น 7,771 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 ทั้งนี้ สินเชื่อของบริษัทเติบโตเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 0.5% จากสิ้นปี 2558 เป็น 7,811 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ประกอบด้วยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ซึ่งคิดเป็น 87.1% ของสินเชื่อรวม ในขณะที่อีก 10.4% และ 2.5% เป็นสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจะลดลง แต่บริษัทก็ยังสามารถดำรงสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไว้ได้ บริษัทยังมีการกระจายฐานการตลาดที่กว้างขวางกว่าคู่แข่งโดยให้บริการผ่านสาขาที่ครอบคลุม 53 จังหวัดทั่วประเทศอีกทั้งยังเปิดบริการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ในประเทศกัมพูชาและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ผ่านบริษัทลูกแห่งใหม่ คือ Suosdey Finance PLC และ Sabaidee Leasing Co., Ltd. ตามลำดับด้วย เครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่งส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ซึ่งมักเน้นเฉพาะลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้ คณะผู้บริหารและพนักงานที่มีประสบการณ์ยาวนาน ตลอดจนเครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง และระบบการบริหารงานและการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทที่จะดำรงสถานะผู้นำตลาดเอาไว้ได้

คุณภาพสินเชื่อโดยรวมของบริษัทลดต่ำลงตั้งแต่ปี 2556 การชะลอตัวของเศรษฐกิจและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ยืดเยื้อยังส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ของบริษัท ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ณ สิ้นปี 2556 และ 5% ณ สิ้นปี 2557 จากนั้นก็เพิ่มเป็น 5.2% ณ สิ้นปี 2558 และ 5.3% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 แม้ว่าจะมีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อ แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้นได้โดยการเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการให้สินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

การนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ ๆ ออกวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่องในปี 2556 รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงเดียวกันได้ส่งผลต่อการลดลงของอุปสงค์ที่มีต่อรถจักรยานยนต์มือสอง อีกทั้งยังกดดันให้ราคารถจักรยานยนต์มือสองลดต่ำลงจนส่งผลทำให้ผลขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเป็น 52.4% ในปี 2556 เป็น 53% ในปี 2557 และเป็น 56.1% ในปี 2558 จาก 47.2% ในปี 2555 โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 อัตราส่วนดังกล่าวปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 55.1% แม้ว่าราคาของรถจักรยานยนต์มือสองจะลดต่ำลง แต่บริษัทก็ยังคงสามารถจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ยึดคืนในราคาที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นเนื่องจากบริษัทมีศูนย์ปรับสภาพรถเป็นของตนเองก่อนที่จะนำออกประมูล

จากปัจจัยลบต่าง ๆ ในปี 2556 ต่อเนื่องถึงปี 2557 ส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทลดลงค่อนข้างมาก โดยลดลงเหลือ 429 ล้านบาทในปี 2556 และ 198 ล้านบาทในปี 2557 จาก 712 ล้านบาทในปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับลดลงเช่นกัน โดยลดลงเป็น 4.3% ในปี 2556 และ 2.1% ในปี 2557 จาก 7.8% ในปี 2555

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 กำไรสุทธิของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 106.2% เป็น 408 ล้านบาท และในไตรมาสแรกของปี 2559 กำไรสุทธิก็ปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น 110 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.9% จาก 107 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันเป็น 4.8% ในปี 2558 และ 5.4% (ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่เกิดจากคุณภาพลูกหนี้และค่าใช้จ่ายดำเนินงานได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฟื้นตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่น่าพอใจเหมือนในช่วงที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าสินเชื่อของบริษัทจะชะลอตัวลงในช่วงปี 2557-2558 บริษัทก็ยังคงรักษาฐานทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งจากการมีกำไรที่ต่อเนื่องได้ โดยอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับสูงและค่อนข้างทรงตัวระหว่างปี 2550 จนถึง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งอยู่ในช่วง 40%-55% ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งนี้เอาไว้ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากการมีฐานทุนที่แข็งแกร่งจะมีส่วนช่วยรองรับความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ