ตลท.คาด IPO-การเพิ่มทุนบจ.ปีนี้เป็นไปตามเป้าที่ 5.25 แสนลบ.,มองมาตรการ Cash Balance ได้ผล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 26, 2016 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ยังคงเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าตามราคาตลาดจากบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียน (บจ.) ทั้งในส่วนของบริษัทจดทะเบียนใหม่ (IPO) และการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน ในปีนี้ที่ระดับ 525,000 ล้านบาท ถึงแม้ครึ่งแรกจะพลาดเป้าโดยทำได้เพียง 152,228 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายทั้งปีที่ 525,000 ล้านบาท จะมาจาก IPO จำนวน 270,000 ล้านบาท และการเพิ่มทุนของบจ.จำนวน 255,000 ล้านบาท

โดยเป้าหมาย IPO ทั้งปีนี้ แบ่งเป็นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 15 บริษัท เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) 16 บริษัท รวม 31 บริษัท แต่ครึ่งแรกมีบจ.เข้าจดทะเบียนใน mai แค่ 5 บริษัท และ SET 2 บริษัท แต่เชื่อว่าสิ้นปีน่าจะเข้าเป้าที่ 31-43 บริษัท โดยใน SET อาจเพิ่มมาอีก 4 บริษัท และ mai 8 บริษัท จากทั้งปี 58 ที่มีทั้งหมด 41 บริษัท

"IPO ปีนี้มาร์เก็ตแคปอาจไม่ได้ตามเป้าที่ 2.7 แสนล้านบาท เป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่ sentiment ตลาดเป็นปัจจัยหลัก แต่เป็นเรืองระบบบัญชีผู้สอบบัญชีทั้งระบบไม่พอ ทำให้ขั้นตอน IPO ล่าช้า"นายสันติ กล่าว

นายสันติ กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกมูลค่าตามราคาตลาดจากการเพิ่มทุนของบจ.จะสูงกว่า IPO เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ดีลการซื้อกิจการ (M&A) ทำให้บางส่วนต้องระดมทุนด้วยการเพิ่มทุนจึงทำให้ตลาดใหญ่กว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทำให้ทั้งปีนี้อาจจะเพิ่มจากเป้าเป็นระดับ 350,000 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 134,700 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของมูลค่าตามราคาตลาดสำหรับดีล IPO สิ้นปีนี้อาจไม่ถึงเป้าหมาย แต่ก็เชื่อว่าจะไม่น้อยกว่า 190,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทใหญ่ ๆ 2-3 บริษัท เลื่อนการทำ IPO ออกไปและคาดว่าจะไปเข้าตลาดหุ้นได้ในปี 60 เพราะมีเรื่องบัญชี "ดีล M&A ส่วนใหญไปซื้อกิจการต่างประเทศด้วยซ้ำ ไม่ได้หมายความว่าสินทรัพย์ในประเทศลดลง แต่สะท้อนว่าบริษัทใหญ่ ๆ ขยายการลงทุนไปต่างประเทศมากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่า"นายสันติ กล่าว

นายสันติ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีการระดมทุนเพิ่มขึ้น 152,228 ล้านบาท ขณะที่ IPO มีการยื่นไฟลิ่งอย่างต่อเนื่อง และจะเริ่มมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 และต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ยังได้ริเริ่มการสร้างฐานข้อมูลกลางของบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ (Startup) เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วย ด้านนายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล รองผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ในปีนี้ถึงแม้วอลุ่มการซื้อขายจะคึกคัก แต่ความร้อนแรงของหุ้นเก็งกำไรไม่สูงเท่ากับปี 58 ทีมียอดสะสมหุ้น Trading Alert List ที่สูงสุด 73 ตัว แต่ปีนี้ความร้อนแรงลดลงเหลือ 20 ตัว และปัจจุบันยอดสะสมหุ้นดังกล่าวเหลือ 19 ตัว สะท้อนว่าเกณฑ์ Cash Balance ได้ผล ซึ่งเป็นการเพิ่มความระมัดระวังให้นักลงทุน

"สภาพการซื้อขายปีนี้ แม้วอลุ่มยังสูงแต่คุณภาพไม่น่าห่วงเหมือนปี 58 เพราะมาตรการที่เราใช้เป็นการป้องกันมากกว่าบทลงโทษ ส่วนมาตรการ Insider Trading หรือปั่นหุ้นที่ส่วนใหญ่เราก็ทำควบคู่กันไป พบว่าในครึ่งแรกปีนี้ case ที่เราส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถือว่าลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะเรามีมาตรการป้องกันให้ระมัดระวังความเสี่ยงระดับหนึ่งแล้ว และคงไม่มีการออกมาตรการอะไรเพิ่มเติม ที่ออกมาถือว่าใช้ได้ผลแล้ว ซึ่งมาตรการ Cash Balance เราไม่ได้ห้ามเทรดเพียงแต่ให้วางหลักประกันเพิ่ม ถ้ายังมั่นใจหุ้นจะผันผวนยังไงก็รับได้ ก็เป็นสิทธิของผู้ลงทุน ซึ่งถ้ามองในเชิงตลท.ที่ผ่านมามาตรการเราก็ใช้ได้ผล ไม่ได้มีผลให้สภาพคล่องของตลาดลดลง ถึงหุ้นจะสวิงมากก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย"นายสุภกิจ กล่าว

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ในครึ่งหลังปีนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดตัวดัชนี sSET Index ที่ครอบคลุมหุ้นขนาดกลางและเล็ก เพิ่มเติมจากดัชนีราคา SET50 และ SET100 ที่มีอยู่เดิม โดย sSET Index เป็นดัชนีราคาหุ้นที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหุ้นสามัญที่มีขนาดเล็กกว่าหุ้นใน SET100 Index โดยจะเริ่มคำนวณและเผยแพร่ดัชนีอย่างเป็นทางการในต้นปี 60

"ในครึ่งปีหลังตลท.เตรียมเปิดตัวดัชนี sSET Index โดยควบคุมหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีมาร์เก็ตแคป หรือไซส์, ฟรีโฟลท และTurnover List Ratio ตามที่กำหนดโดยเลือกเฉพาะหุ้นที่อยู่ในตลท.เท่านั้น ถ้าหุ้นที่มีคุณสมบัติตามนี้ในรอบ 1 ปีย้อนหลัง ก็จะนำเข้า โดยดัชนี sSET Index จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 1 มกราคม 60 ปัจจุบันหุ้นที่เข้าเกณฑ์เบื้องต้นราว 104 ตัว ทั้งนี้ เป็นการส่งเสริมบริษัทขนาดกลางนอก SET100 ที่มีความโดดเด่น น่าสนใจจึงได้ทำดัชนีนี้ขึ้นมา คาดปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรามาส 4 จะเรา tset run ก่อน"นางเกศรา กล่าว

นางเกศรา กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งแรกปี 59 ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถรักษาความแข็งแกร่งครองความโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียนใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ (1) ดัชนี SET Index ปรับเพิ่มอยู่ที่ 1,444.99 จุด ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาค โดยปรับบวก 12.2% หรือ 15.2% (ในสกุลเงินสหรัฐ) (2) ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 35,978 ล้านบาท (หรือ 1,038 ล้านเหรียญสหรัฐ) สูงสุดในอาเซียน พลิกจากการขายสุทธิในปีก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มที่จะซื้ออย่างต่อเนื่อง

และ (3) มีสภาพคล่องมากที่สุดในอาเซียน ด้วยมูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,669 ล้านบาท (หรือ 1,310 ล้านเหรียญสหรัฐ) สูงสุดตั้งแต่ปี 55 ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากสิ้นปี 58 เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 3.2% เทียบกับปี 58 ที่ 2.8%

และในช่วงครึ่งแรก MSCI Thailand Standard Index ประกาศเพิ่มอีก 3 บริษัทจดทะเบียนไทย รวมเป็น 32 บริษัท เป็นการเพิ่มสุทธิสูงสุดในเอเชีย ขณะที่ FTSE4Good ASEAN 5 Index ซึ่งพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) ได้มีบริษัทไทยจำนวน 30 แห่ง จาก 78 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกทั้งภูมิภาค โดยไทยได้เป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

ขณะเดียวกัน การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ยังคงดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีบริษัทจดทะเบียนเข้ามารับการประเมินจำนวน 87 บริษัท โดยจะประกาศรายชื่อในไตรมาส 4 นี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน

สำหรับปริมาณการซื้อขายสินค้าเฉลี่ยต่อวันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 232,798 สัญญา เติบโตจากสิ้นปีก่อนหน้าถึง 16.5% และได้เริ่มจัดให้ซื้อขายยางพาราล่วงหน้า (RSS3 Futures) เมื่อต้นปี และต่อยอดไปเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 เพื่อการส่งมอบสินค้า (RSS3D Futures) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุน นอกจากนี้ ได้เพิ่มผู้ดูแลสภาพคล่องใน Single Stock Futures อีก 3 ราย รวมถึงยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับ Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงพัฒนาความร่วมมือด้านธุรกิจ และในครึ่งปีหลังจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่ใน TFEX ได้แก่ TFEX Gold-D ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าประเภทต้องส่งมอบทองคำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ