(เพิ่มเติม) KKP ปรับลดเป้าสินเชื่อรวมปีนี้เหลือโต 3-5% จากเดิม 15% หลังเศรษฐกิจยังผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 27, 2016 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดเป้าอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมเหลือโต 3-5% จากเดิมคาดไว้ที่ 15% หลังจกาการขยายสินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกไม่เป็นไปตามคาดจากหลายปัจจัย แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง และอุตสาหกรรมธนาคารมีการแข่งขันที่สูง

ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังธนาคารจะคงดำเนินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ โดยจะมุ่งเน้นที่สินเชื่อบรรษัทที่จะก่อให้เกิดรายได้ที่เป็นดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่ดี และเริ่มเห็นผลจากการร่วมมือระหว่างเกียรตินาคินและภัทรอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนมุ่งขยายฐานสินเชื่อลูกค้ารายย่อยผ่านสาขา และสายงานช่องทางการตลาด และพัฒนาฐานลูกค้าใหม่เมื่อปลายปี 58

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการเติบโตที่ดีจากสินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อเคหะ, สินเชื่อ KK SME รถคูณ3 ที่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะเห็นผลอย่างชัดเจน และจะผลักดันให้รายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

"ครึ่งปีแรกภาพรวมผลประกอบการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้การขยายตัวของสินเชื่อรวมไม่เป็นตามคาด โดยมาจากหลายปัจจัยเช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงหดตัวตามภาวะตลาดรถโดยรวม ขณะที่สินเชื่อรถมือสองเติบโตได้ดีขึ้น และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่ารถใหม่ ส่วนสินเชื่อบรรษัทที่เป็นสินเชื่อขนาดใหญ่ที่ให้กับฐานลูกค้าในกลุ่มบรรษัทจดทะเบียน และบริษัทขนาดใหญ่มีการอนุมัติได้ค่อนข้างมากสอดคล้องกับเป้าหมาย แต่ก็มีการชำระคืนกลับมาเร็วทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างไม่ได้เพิ่มมากนัก

ขณะที่ครึ่งปีหลังธนาคารก็ยังดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ซึ่งน่าจะทำให้การเติบโตของสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3-5% และในกรณีที่เลวร้ายก็คาดว่าจะอยู่ที่ 0% หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี และไม่เห็นการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ ส่งผลต่อสินเชื่อเช่าซื้อ"นายอภินันท์ กล่าว

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปีนี้ ธนาคารจะควบคุมให้อยู่ในระดับ 5.1%-5.3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.1% หลังมีการบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น

ส่วนด้านของตลาดทุน สภาวะตลาดในไตรมาส 2/59 ค่อนข้างมีความผันผวน ซึ่งตลาดได้รับผลกระทบจากความกังวลในเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ และการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (Brexit) ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกต้องปรับตัว โดยมีการเคลื่อนย้ายสภาพคล่องส่วนเกินจำนวนมากสู่ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจที่ดี ผลักดันให้ตลาดในประเทศให้ประเทศไทย รวมทั้งตลาดเกิดขึ้นใหม่เป็นที่สนใจ ทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาซื้อสุทธิมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจยังเน้นการทำงาน 2 ด้าน คือ การต่อยอดธุรกิจ Wealth Management ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (AUA) ที่ 343,000 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูง คือ Phatra Edge ที่มีพอร์ตการลงทุนและเงินฝากตั้งแต่ระดับ 2 ล้านบาท มีความต้องการบริหารเงินลงทุนเพิ่มขึ้น และอีกหนึ่งด้านคือรักษาความเป็นผู้นำในด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ที่ภัทร เป็นผู้นำด้านธุรกิจนี้อยู่แล้ว

ปัจจุบันบริษัทฯมีงานขนาดใหญ่ในมือ มูลค่า 700-800 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นไปตามแผนในครึ่งหลังปีนี้ได้หรือไม่ ส่วนการลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าราคาพื้นฐานได้มีการลงทุนที่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่สูง

นายอภินันท์ กล่าวว่า ด้านต้นทุนทางการเงิน ธนาคารสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 2.7% ส่วนคุณภาพสินเชื่อพบว่าคุณภาพลูกหนี้รายย่อยดีขึ้น และคุณภาพสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงบ้างแต่ก็ไม่ได้มาก และไม่มีภาระเรื่องการกันสำรอง เนื่องจากมีหลักประกันเต็มจำนวน โดยคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อน จากมีการตั้งสำรอง NPL ที่อยู่ในระดับ 96%

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้มีการขายหุ้นทั้งหมดใน บล.เคเคเทรด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม KKP ให้แก่ บริษัท หยวนต้า เอเชีย ไฟแนนซ์เชียล เซอร์วิสเซส จำกัด ในสัดส่วน 99.99% ซึ่งธนาคารจะมีการบันทึกรายการพิเศษดังกล่าวเข้ามาในช่วงไตรมาส 3/59

ส่วนธุรกิจบริหารหนี้ ธนาคารมีขายทรัพย์รอการขายได้ในอัตราใกล้เคียงไตรมาสแรก รวมถึงรายได้จากตลาดทุน ในเรื่องการของเป็นนายหน้าดีขึ้นตามลำดับจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด ตลอดจนรายได้จากธุรกิจการลงทุนที่ดีขึ้นเกือบทุกประเภท โดยจากผลประกอบการที่ออกมาดี ธนาคารได้กันสำรองทั่วไปเพิ่มขึ้น ใน 6 เดือนแรก อยู่ที่ 650 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสำรองตามเกณฑ์อยู่ในระดับที่ดี 169.8% เพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ