โบรกฯ เชียร์"ซื้อ" BEM รับอานิสงส์ ม.44 เร่งเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย-ยืดสัมปทาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 27, 2016 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์มีมุมมองบวกต่อหุ้น บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยบางส่วนได้ปรับราคาเป้าหมายราคาหุ้น BEM ขึ้นมา ซึ่งระดับสูงสุดอยู่ที่ 9.00 บาท เนื่องจากได้รับผลดีจากที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใชั้ม.44 ในการเร่งกระบวนการเจรจาการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และให้ปรับส่วนแบ่งรายได้และระยะเวลาเดินรถทั้งสองเส้นจบในช่วงเดียวกัน ทำให้ได้ยืดระยเวลาสัมปทานทั้งเส้นเดิมและส่วนต่อขยาย

นอกจากนี้ ยังเห็นว่า BEM-CK ที่ร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลืองมีโอกาสูงจะได้รับงาน เพราะโครงการดังกล่าวเป็นโครงการ PPP ที่ให้เอกชนลงทุนทั้งหมดทั้งงานก่อสร้างงานโยธา และงานระบบเดินรถ โดย BEM มีภาษีดีกว่าที่มีประสบการณ์ และเป็นที่ไว้ใจของรัฐบาล ซึ่งการคัดเลือกเอกชนมารับงานต้องคำนึงส่วนนี้ด้วย

รวมทั้ง การเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ส.ค.นี้ จะช่วยเพิ่มรายได้เข้ามาให้ BEM และเป็นส่วนเสริมจำนวนผู้โดยสารให้กับเส้นสายสีน้ำเงิน

ราคาหุ้น BEM ปิดวันนี้ที่ 7.75 บาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดหลังจากที่ BECL ควบรวมกับ BMCL

          โบรกเกอร์           แนะนำ         ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บล.กรุงศรี           ซื้อ             9.00 (ปรับจากเดิม 7.00 บาท)
          บล.เมย์แบงก์กิมเอ็งฯ   ซื้อ             8.10 (ปรับจากเดิม 6.50 บาท)
          บล.โนมูระ พัฒนสิน     ถือ             7.60
          บล.ทรีนิตี้            ถือ             7.10
          บล.ดีบีเอสวิคเคอร์สฯ   ถือ             6.50

นายสุนทร ทองทิพย์ นักวิเคราะห์ จากบล.กรุงศรี แนะนำ"ซื้อ"หุ้น BEM โดยปรับราคาเป้าหมายใหม่เป็น 9.00 บาท จากเดิม 7.00 บาท เนื่องจากคาดว่า BEM ซึ่งเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน จะได้งานเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยจะได้ยืดขยายเวลาสัมปทานเป็น 30 ปีจากเดิม 25 ปี และสัญญาเดินรถสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ จะขยายไปอีก 19 ปี

ทั้งนี้ เป็นผลจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี อาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวเร่งการเจรจาระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) กับ BEM ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ คณะกรรมการ รฟม.ร่างข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้และเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการเดินรถของสายสีน้ำเงินเดิมและสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเป็นไปอย่างราบรื่น พร้อมทั้งปรับอายุสัมปทานของการเดินรถสายสีน้ำเงินให้จบในช่วงเดียวกันกับส่วนต่อขยายเพื่อให้การบริหารจัดการและบริการเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และการเจรจาของรฟม.ต้องเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง จากนั้นนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการกำกับดูแลเพื่อให้อนุมัติภายใน 15 วัน และ 30 วันตามลำดับ เรื่องนี้ถือเป็นกรณีส้มหล่นใส่ BEM

"เราได้ปรับเพิ่มมูลค่าของโครงการสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจาก 1.5 บาท/หุ้น เป็น 2 บาท/หุ้น จากการยืดอายุสัมปทานจาก 25 เป็น 30 ปี ซึ่งจะเหมือนสัมปทานของสายสีส้ม ชมพู และเหลืองตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556 นอกจากนี้ เรายังนำการต่อายุสัมปทานสายสีน้ำเงินเดิมเข้ามาไว้ในประมาณการซึ่งทำให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 1.5 บาท/หุ้น ... ส่งผลให้ราคาเป้าหมายเพิ่มเป็น 9 บาท โดยเรายังมองว่าผลประกอบการและราคาเป้าหมายยังมี upside"นายสุนทร กล่าว

นอกจากนี้ คาดว่าการเจรจาอาจมีการพิจารณาส่วนของสัมปทานการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจากประสบการณ์ในการบริหารโครงการในอดีตของ BEM

ด้านนายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น BEM ที่ปรับตัวขึ้นมาเป็นผลจากที่รัฐบาลใช้ มาตรา 44 เร่งสรรหาผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และการเดินรถ 1 สถานีจากสถานีเตาปูน - สถานีบางซื่อ เพื่อเร่งให้ดำเนินการได้เร็ว โดยหาก BEM เป็นผู้เดินรถจะสามารถดำเนินการเดินรถได้อย่างเร็วภายใน 10-15 เดือน

นอกจากนี้ เห็นโอกาสที่ BEM และ บมจ.ช.การช่าง(CK) ที่จับคู่เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว -สำโรง) และ กลุ่มบมจ.ซิโน-ไทย คอนสตรัคชั้น เอ็นจิเนียริ่ง (STEC) ที่จับคู่กับ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ทั้งสองกลุ่มมีโอกาสได้งานสูง เพราะรัฐบาลได้เห็นผลงานและไว้ใจการเดินรถของทั้ง BEM และ BTS โดยโครงการนี้เป็นโครงการ PPP ที่เอกชนจะต้องลงทุนทั้งงานโยธาและบริหารจัดการงานเดินรถ ซึ่งไม่ได้มองแค่ราคาต่ำสุดแต่จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากกว่า

ส่วน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า จากข้อมูลที่ผู้บริหารคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ (เตาปูน-บางใหญ่) ที่ BEM ได้รับสัมปทานจ้างการเดินรถจะเปิดได้ตามกำหนดคือ 6 ส.ค.นี้ จะเสริมจำนวยผู่โดยสาร (Ridership) มายังสายสีน้ำเงินที่ BEM บริหารงานเดินรถในปัจจุบัน และมีแนวโน้ม BEM เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ภายใต้การเจรจาตรง ซึ่งจะเข้ามาหนุนการเติบโตในระยะยาว

อย่างไรก็ดี จากราคาซื้อขายในปัจจุบันมี upside จำกัด จากราคาเป้าหมาย จึงแนะนำให้"ถือ"เพื่อ let profit run จากมุมมองแนวโน้มธุรกิจของบริษัทจะเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ไปถึงปี 61 จากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ และทางด่วนศรีรัชฯ รวมถึงสถานะทางการเงินดีขึ้นส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ