MAX ลุยพลังงาน-อสังหาฯลดบทบาทค้าเหล็กเล็งเปลี่ยนชื่อ-ย้ายกลุ่มเทรด เชื่อพลิกกำไร-ล้างขาดทุนฯในปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 22, 2016 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิทธิชัย อรุณศรีแสงไชย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX) เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ เพื่ดลดบทบาทของธุรกิจค้าเหล็กที่เป็นธุรกิจดั้งเดิม โดยการลงทุนของบริษัทจะอยู่ภายใต้หลักการที่จะต้องสร้างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10%

เบื้องต้นบริษัทตั้งเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,000 เมกะวัตต์ในอนาคต เพื่อผลักดันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานขึ้นเป็นมากกว่า 50% ด้วยการเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าขยะและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่อยู่ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ยังมีโอกาสการลงทุนอีกมากจากปัจจุบันที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าขยะที่แพรกษาขนาด 9.9 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 1 โรงที่ลาดกระบัง ขนาด 120 เมกะวัตต์

สำหรับโรงไฟฟ้าขยะของบริษัท ราชบุรี-อีอีพี รีนิวเอเบิ้ล เอนเนอจี้ จำกัด (R-EEP) ที่แพรกษา บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนราว 20% คาดว่าเริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือน ธ.ค.นี้ และจะเริ่มรับรู้รายได้ปี 60 ซึ่งในบริเวณดังกล่าวยังมีศักยภาพที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้อีกมาก เนื่องจากมีปริมาณขยะมากกว่า 4 พันตัน/วัน และมีระบบบริหารจัดการผลประโยชน์ที่ค่อนข้างลงตัว จึงมองโอกาสที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรรายเดิมเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) ของบริษัท พีพีทีซี จำกัด (PPTC) เริ่ม COD ไปเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีข้อสรุปการเจรจาเข้าถือหุ้นราว 21.5% ภายในสิ้นปีนี้ หลังจากวางเงินมัดจำไปแล้ว 100 ล้านบาท จากมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด 450 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ต้นปี 60 นอกจากนั้น บริษัทยังมีดีลโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในประเทศที่อยู่ในความสนใจจะเจรจาเข้าร่วมทุนอีก 2 โรง ขนาดโรงละ 120 เมกะวัตต์

"การลงทุนในโรงไฟฟ้าผมก็ยังคง Focus ไปที่โรงไฟฟ้าขยะ และ Cogen ที่มีความแน่นอนและเป็นไปได้ในการลงทุน ซึ่งหากจะไปลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ไม่รู้จะเอาเชื้อเพลิงมาจากไหน ทุกวันนี้หลายโรงก็บอกขายเพราะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่มาเป็นเชื้อเพลิง ส่วนโซลาร์ก็ยังไม่มีความมั่นใจเรื่องอายุการใช้งานของแผงโซลาร์ว่าจะใช้ได้นานแค่ไหน

โรงไฟฟ้าขยะ และ Cogen เป็น 2 ประเภทที่เรามั่นใจ อย่างโรงไฟฟ้าขยะก็มีขยะที่เข้ามาให้เราผลิตทุกวันอยู่แล้ว มีขยะเข้ามาเฉลี่ย 300 ตัน/วัน/โรง โรงไฟฟ้าขยะ และ Cogen ก็ให้ผลตอบแทนกับเราที่ 15% ซึ่งเป็นระดับที่เราพอใจ เพราะเราตั้งใจไว้ว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าแต่ละโรงจะต้องให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 10% ส่วนการลงทุนจะมีทั้งการซื้อและการเข้าไปถือหุ้น ที่เรามารุกธุรกิจไฟฟ้า เพราะว่าเป็นธุรกิจที่มีรายได้ที่แน่นอนในระยะยาว เพราะสัญญาขายไฟมีอายุที่ยาว โดยโรงไฟฟ้าที่เรามีอยู่สัญญาขายไฟอยู่ที่ 25 ปี"นายอิทธิชัย กล่าว

ด้านโอกาสในการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต แผนการลงทุนจะเป็นการเข้าไปซื้อโครงการที่พัฒนาแล้วมาขาย ซึ่งจะเน้นไปที่การซื้อโครงการคอนโดมิเนียมระดับกลาง-บน และจะต้องมี IRR ไม่ต่ำกว่า 10% เช่นกัน โดยปัจจุบันบริษัทได้เข้าไปซื้อสนามกอล์ฟที่หัวหิน ขนาด 27 หลุมในปัจจุบัน บนที่ดิน 1,400 ไร่ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับบริษัทปีละ 50 ล้านบาท และในครึ่งปีแรกของปีนี้ธุรกิจสนามกอล์ฟดังกล่าวเริ่มเป็นกำไรเป็นครั้งแรกแล้ว หลังจากช่วงที่ผ่านมายังขาดทุน

ส่วนธุรกิจค้าเหล็กที่ปัจจุบันสร้างรายได้ให้กับบริษัทน้อยมาก ในอนาคตบริษัทจะค่อย ๆ ทยอยลดบทบาทลงลง ซึ่งธุรกิจเหล็กเป็นธุรกิจที่ยังสร้างผลขาดทุนให้กับบริษัทในปัจจุบัน และมีรายได้เข้ามาไม่มากนัก และการที่ลดสัดส่วนธุรกิจเหล็กให้น้อยลงบริษัทไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ เป็นเพียงธุรกิจซื้อมาขายไปเท่านั้น

ขณะที่เงินลงทุนที่จะนำมาใช้ขยายธุรกิจใหม่ทั้งโรงไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์นั้นจะมาจากเงินที่ได้จากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (วอร์แรนต์) ราว 800 ล้านบาท ซึ่งจะใช้สิทธิในปี 60 เงินจากการเพิ่มทุนผ่าน TSR ราว 700 ล้านบาท และเงินจากการเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) อีก 1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะได้เงินทั้งหมดราว 3 พันล้านบาท โดยหากได้ข้อสรุปของดีลการซื้อโรงไฟฟ้าใหม่ 2 ดีล บริษัทจะนำเงินที่ได้ผ่านการเพิ่มทุนผ่าน TSR และ PP มาใช้เป็นเงินลงทุนไนเบื้องต้นไปก่อน

นายอิทธิชัย กล่าวว่า บริษัทยังมีแนวคิดจะเปลี่ยนชื่อบริษัทให้มีความชัดเจนและเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจใหม่มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการปรึกษากับคณะกรรมการบริษัท และเตรียมเปลี่ยนกลุ่มธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจพลังงานและบริการสาธารณูปโภค จากเดิมที่บริษัทเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานนั้น นายอิทธิชัย ยอมรับว่า ในปีนี้บริษัทจะยังคงมีผลขาดทุนอยู่ เนื่องจากรายได้จากธุรกิจไฟฟ้ายังเข้ามาไม่มาก แต่จะเริ่มเข้ามามากอย่างมีนัยสำคัญขึ้นตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานพลิกกลับมามีกำไร หลังจากสิ้นปี 59 บริษัทคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นเกือบ 300 เมกะวัตต์

ขณะที่ภาระขาดทุนสะสมที่มีอยู่ในปัจจุบัน 390 ล้านบาทนั้น บริษัทเตรียมแผนล้างขาดทุนสะสมให้หมดในปี 60 ด้วยการปรับลดมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ของหุ้น MAX เหลือ 0.50 บาท จาก 1 บาทในปัจจุบัน เพื่อนำมาล้างขาดทุนสะสม และหลังจากนั้นบริษัทก็เตรียมจะพิจารณาการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งหากงวดปี 60 มีกำไรตามที่วางเป้าหมายไว้ ก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ