SELIC พร้อมเทรด mai ต้น Q4/59 ชูจุดแข็ง R&D-ปรับพอร์ตสินค้าดันกำไรพุ่งสวนทางรายได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 23, 2016 08:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ซีลิค คอร์พ (SELIC) ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกาวอุตสาหกรรม (Adhesive, Specialty and High Performance Adhesive) ทั้งในและต่างประเทศ เตรียมความพร้อมเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 80 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ช่วงต้นไตรมาส 4/59 เพื่อระดมทุนมาใช้ในการวิจัยพัฒนาสินค้ากาวเทคโนโลยีสูงและต่อยอดไปยังกระบวนการผลิต ตอบสนองนโยบายบริษัทที่เน้นทำยอดขายสินค้าที่สร้างผลกำไรสูงเป็นหลัก ชูจุดเด่นปรับพอร์ตขายสินค้าดันกำไรโตต่อเนื่องสวนทางรายได้-ภาระหนี้

นายเอก สุวัฒนพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SELIC กล่าวระหว่างกิจกรรมการนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุน (โรดโชว์)ที่ จ.ภูเก็ตว่า บริษัทมีทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท เป็นทุนที่ออกและชำระแล้ว 100 ล้านบาท โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 80 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เงินจากการระดมทุนจะไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมทั้งใช้เงินเป็นทุนในการต่อเติมอาคารและปรับปรุงระบบผลิต รวมทั้งใช้เป็นเงินหมุนเวียนเพื่อรองรับการขยายตัวของบริษัทและธุรกิจในอนาคต

“บริษัทมุ่งมั่นจะรักษาความเป็นผู้นำด้านกาวอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของบริษัทในด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัท รวมไปถึงการมีทีมบุคลากร และเครื่องมือเครื่องจักรที่มีคุณภาพ สามารถตอบโจทย์ต่อการเติบโตของตลาด นอกจากนี้ บริษัทมีการให้คำแนะนำแก่ลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตตรงตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างที่ไม่มีใครเหมือน"นายเอก กล่าว

ปัจจุบัน สินค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นกาวที่มีโซลเวนท์เป็นตัวทำละลาย มีสัดส่วนรายได้ราว 56% ขณะที่กาวประเภท Hot melt ที่ต้องใช้ความร้อนละลายเมื่อใช้งานมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 26% ที่เหลือเป็นประเภทกาวน้ำ 5% และผลิตภัณฑ์อื่น โดยลูกค้าหลักอยู่ในประเทศราว 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นการส่งออกไปยังตลาดเอเชียและแอฟริกา ซึ่งขณะนี้บริษัทมีลูกค้ามากกว่า 800 ราย

แนวโน้มตลาดกาวโลกยังมีทิศทางการเติบโตที่ดีตามอุตสาหกรรมที่ใช้กาวค่อนข้างมาก ทั้งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนังและรองเท้า รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีผู้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดกาวโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.72% ไปจนถึงปี 63 ซึ่งในตลาดเอเชียจะเติบโตสูงสุด รวมถึงตลาดภูมิภาคและประเทศไทย

ขณะที่บริษัทมีจุดแข็งและมีกลยุทธการแข่งขันที่แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นในไทย คือมีทีมวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนมามากกว่า 10 ปี มีทีมนักวิจัย 23 คนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีห้องเล็บที่ดีที่สุดในเอเชีย มีการลงทุนด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัย ช่วยตอบสนองกลยุทธที่ใช้ทีมงานด้านเทคนิคเข้าไปร่วมทำงานกับลูกค้าในการแก้ไขปัญหาหรือหา solution ที่ใช้กาวเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ทดแทนการนำเข้า และลดต้นทุนให้กับลูกค้าได้อย่างประสพความสำเร็จ จึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคา

"เราเป็นผู้ผลิตกาวที่เอาชนะใจลูกค้า...เราไม่ได้แค่ขายของ แต่เราเข้าไปทำงานกับลูกค้า เราเป็น solution provider มีทีมเทคนิค 6 คนเข้าไปคุยกับลูกค้าแก้ปัญหาร่วมกัน ช่วยลูกค้าพัฒนา ถ้าได้โอกาส test แล้วส่วนใหญ่ก็มีโอกาสปิดการเจรจากับลูกค้าได้เกือบทุกราย"นายเอก กล่าว

นายเอก กล่าวว่า บริษัทสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่จากต่างประเทศได้ดี และจะนำเงินระดมทุนมาเพิ่มศักยภาพในการวิจัยพัฒนา รวมทั้งกระบวนการผลิต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้ผลิตกาวอันดับ 1 ในเอเชีย และก้าวต่อจากระดับภูมิภาคไปสู่ระดับโลกในที่สุด

ด้านนายเสกสรร ธโนจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน SELIC กล่าวว่า ผลประกอบการในช่วง 3 ปีนี้ (56-58) รายได้ปรับตัวลดลงเป็นลำดับ สวนทางอัตรากำไรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ต้องการเน้นยอดขายสินค้าที่ให้อัตรากำไรสูง ทำให้ในปี 58 กำไรขั้นต้นเพิ่มมาที่ 25.69% และอัตรากำไรสุทธิมาอยู่ที่ 6.64% จากปี 56 กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 20.47% และกำไรสุทธิอยู่ที่ 0.88% ขณะที่รายได้ปรับลดจาก 697.82 ล้านบาทในปี 56 ลงมาที่ 593.28 ล้านบาทในปี 58

ส่วนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 59 อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาที่ 30.47% และอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 7.62% ขณะที่รายได้อยู่ที่ 286.34 ล้านบาท ลดลง 6.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 21.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนั้น นโยบายบริษัทดังกล่าวยังส่งผลดีต่ออัตราหนี้หนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น ลดลงจาก 5-6 เท่า เหลือ 1.78 เท่า เนื่องจากหันมาเน้นขายสินค้ามาร์จิ้นสูง ไม่เน้นปริมาณยอดขาย ทำให้ภาระในการสต็อกสินค้าลดลง และเชื่อว่าหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาด mai อัตราส่วนดังกล่าวก็จะปรับลดลงอีก ขณะที่บริษัทมีกำไรสะสมราว 26 ล้านบาท และยังไม่เคยจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

ขณะที่ นายเอกจักร บัวหภักดี ผู้อำนวยการสายงานวาณิชธนกิจ บล.โนมูระ พัฒนสิน ในฐานะแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ในครั้งนี้ กล่าวว่า หุ้น SELIC ถือว่ามีจุดแข็ง คือในด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนทำให้สามารถมีฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรมและตอบโจทย์ความต้องการและการใช้งานกาวที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ ทำให้เกิดการลอกเลียนแบบยาก

รวมทั้งกำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิของบริษัทเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 56-58 โดย CAGR เท่ากับ 153.70% และมีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ย 3 เดือนแรกของปี 59 ที่ 7.49% เนื่องมาจากนโยบายการปรับสัดส่วนใน portfolio สินค้าที่จำหน่ายเน้นสินค้าที่มีกำไรขั้นต้นสูง และการเติบโตไปกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนั้นยังมีการกระจายรายได้จากลูกค้าในอุตสาหกรรมหลากหลาย จึงนับได้ว่า SELIC เป็นหุ้นตัวใหม่ที่น่าสนใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ