"บี.กริม เพาเวอร์"ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 810 ล้านหุ้น เข้า SET ใช้ลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง-พัฒนา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 23, 2016 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) version แรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 22 ก.ย.59 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 810 ล้านหุ้น โดยเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 705 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนเกินจำนวนไม่เกิน 105 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2 บาท มี บล.ภัทร, บล.กสิกรไทย และบล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

บริษัทมีความประสงค์จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และมีวัตถุประสงค์การใช้เงินเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับชำระคืนภาระทางการเงิน, เงินทุนสำหรับลงทุนโครงารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตามสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบี.กรีม เพาเวอร์ และเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปอื่น ๆ

บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ อยู่ในกลุ่ม บี.กริม ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 138 ปี โดยบริษัทประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ทำธุรกิจหลักด้านการผลิตและขายไฟฟ้า ไอน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ปัจจุบัน บริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP รายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเมื่อนับตามกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Installed Capacity) (จากข้อมูลของไอพีเอ แอดไวซอรี่ ลิมิเต็ด และ เอดับบลิวอาร์ ลอยด์ ลิมิเต็ด) และมีส่วนสำคัญในการดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องการความมั่นคงของกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตสูงเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับการขายไฟฟ้าและไอน้ำในประเทศไทย ได้แก่ 1. สัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP 2. สัญญาขายไฟฟ้าและไอน้ำกับลูกค้าอุตสาหกรรมผ่านโครงข่ายไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัทที่ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 100 ราย ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำ 5 แห่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้, สวนอุตสาหกรรมบางกะดี, นิคมอุตสาหกรรมเหมราช, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และ 3. สัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ด้านการลงทุนในต่างประเทศ บี.กริม เพาเวอร์ เริ่มลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ปี 42 โดยขายไฟฟ้าที่รับซื้อจากบริษัทย่อยของ EVN ให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (เบียนหัว) จำนวน 200 ราย ผ่านโครงข่ายไฟฟ้าของ บี.กริม เพาเวอร์ นอกจากนี้ ยังขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาวตั้งแต่ปี 58 อยู่ระหว่างก่อสร้างหรือพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำรวม 8 โครงการ และยังมีแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อแสวงหาโอกาสการลงทุน

ณ วันที่ 30 มิ.ย.59 บี.กริม เพาเวอร์ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 43 โครงการ ผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อย และบริษัทร่วมค้า ประกอบด้วย (1) โครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 27 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,495.5 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำติดตั้งรวม 320.0 ตันต่อชั่วโมง (2) โครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 549.1 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำติดตั้งรวม 120.0 ตันต่อชั่วโมง และ (3) โครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ 10 โครงการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 338.5 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำติดตั้งรวม 60.0 ตันต่อชั่วโมง

หากบริษัทสามารถก่อสร้างและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนให้แล้วเสร็จได้ภายในปี 64 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 2,383.1 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 2,137.3 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 114.2 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 102.6 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม 16 เมกะวัตต์และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง 13 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำติดตั้งรวม 500 ตันต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ บริษัทระบุถึงโครงการตามแผนงานในอนาคตคือ กลุ่มบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 25 ปีสำหรับ ABP1 ABP2 และ BPLC1 ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้า SPP และเมื่อมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่กับ กฟผ. ก็จะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มาทดแทนโรงไฟฟ้าดังกล่าวในพื้นที่เดิม หรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้บริการกับลูกค้าอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันซื้อไฟฟ้าหรือไอน้ำกับโครงการโรงไฟฟ้าที่กล่าวไว้ข้างต้น หลังจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ฉบับปัจจุบันสิ้นสุดลง

ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทฯ ยังได้เข้าทำบันทึกข้อตกลงกับหุ้นส่วนทางธุรกิจเกี่ยวกับการร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำอื่นๆ ในประเทศลาว ดังนี้ (1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 โดยเข้าทำบันทึกข้อตกลงในเดือน พ.ย.58 คาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 300 เมกะวัตต์ และ (2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ทัดสะกอย โดยทำบันทึกข้อตกลงในเดือน ธ.ค.58 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับ EDL ในเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 30 เมกะวัตต์

ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนสิ้นสุด 30 มิ.ย.59 (ยังไม่ได้ตรวจสอบ) มีสิทรัพย์รวม 67,325.0 ล้านบาท หนี้สินรวม 52,714.6 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 14,610.4 ล้านบาท รวมรายได้จากการขายและการให้บริการ 13,608.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,789.0 ล้านบาท

ณ วันที่ 30 มิ.ย. บี.กริม เพาเวอร์มีทุนจดทะเบียน 3,780,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ 37,800,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท และมีทุนชำระแล้ว 3,780,000,000 บาท ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้เป็น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2 บาท ส่งผลให้จำนวนหุ้นสามัญเพิ่มเป็น 1,890,000,000 หุ้น ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดในครั้งนี้แล้ว บี.กริม เพาเวอร์จะมีทุนชำระแล้วทั้งสิ้นไม่เกิน 5,400,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 2,700,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 2 บาท

ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฯ ณ วันที่ 9 ก.ย.59 ประกอบด้วย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (สิงคโปร์) พีทีอี. แอลทีดี. ถือหุ้น 921,502,000 หุ้น คิดเป็น 48.8% หลังเสนอขายหุ้น IPO จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 34.1%, นายฮาราลด์ ลิงค์ ถือหุ้น 704,149,700 หุ้น คิดเป็น 37.2% จะลดสัดส่วนถือหุ้นลงเหลือ 26.1%, บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 235,997,750 หุ้น คิดเป็น 12.5% จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 8.7%

บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ หลังหักภาษี ทุนสำรองตามกฏหมายกำหนด และภาระผูกพันตามเงื่อนไขของสัญญาเงินกู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ