โบรกฯแนะ"ซื้อ" SAT มองผลงานปี 60 กลับมาเติบโตตามอุตสาหกรรม,สิ้นสุดอายุโครงการรถคันแรกหนุน-ภัยแล้งลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 6, 2016 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะหุ้นบมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) หลังมองแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง หลังจากคาดว่าจะหดตัวในปีนี้ต่อเนื่องจากปีก่อน ตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมถึงการสิ้นสุดอายุของรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก และราคาพืชผลทางการเกษตรที่น่าจะดีขึ้นจากภาวะภัยแล้งที่ลดลง นอกจากช่วยหนุนยอดขายรถยนต์แล้ว ยังช่วยผลักดันยอดขายยานยนต์เพื่อการเกษตรอย่างคูโบต้าให้ดีขึ้นด้วย

ขณะที่ SAT ให้อัตราเงินปันผลในระดับ 4.1%-6.0% ในช่วงปี 59-61 ประกอบกับราคาหุ้นในปัจจุบันยังมี upside อยู่มาก ทำให้หุ้น SAT ยังมีความน่าสนใจอยู่มาก

ราคาหุ้น SAT พักเที่ยงอยู่ที่ 12.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท (+0.79%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.50%

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ                ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ซีไอเอ็มบีฯ                    ซื้อ                          17.00
          เอเชีย เวลท์                  ซื้อ                          16.35
          บัวหลวง                      ซื้อ                          16.90
          คันทรี่ กรุ๊ป                    ซื้อเก็งกำไร                   16.70
          เคทีบีฯ                       ซื้อ                          17.50

นายธีรวุฒิ กานต์นิภากุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) คาดว่าผลการดำเนินงานของ SAT จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในปี 60 จากการครบกำหนดการถือครองรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 54 ก็จะผลักดันให้เกิดการซื้อรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาพืชผลทางการเกษตรที่ดีขึ้นก็จะกระตุ้นยอดขายรถยนต์โดยรวม ตลอดจนยอดขายรถยนต์เพื่อการเกษตรอย่างคูโบต้าด้วย

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศยังจะเติบโตได้ตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า หนุนให้ยอดขายรถยนต์กลับมาอยู่ในระดับ 8 แสนคันได้อีกครั้ง จากปีนี้ที่คาดว่าการขายรถยนต์ในประเทศจะอยู่ที่ราว 7.4 แสนคัน โดยการขายชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่มรถยนต์นั้นจะมีมาร์จิ้นสูงกว่าการขายชิ้นส่วนให้กับรถคูโบต้า ก็จะหนุนผลประกอบการของบริษัทในปี 60 ให้เติบโตราว 22% มาที่ 720 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ยังคาดว่า SAT จะมีกำไรหดตัวราว 7.7% มาที่ 591 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว

สำหรับกำไรในไตรมาส 3/59 จะอยู่ที่ 132 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงราว 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงมาอยู่ที่ 14.5% จากระดับ 15.5% ในงวดปีที่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากยอดขายคูโบต้าที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ในประเทศโดยรวมยังไม่คึกคักมากนัก โดยในครี่งหลังปีนี้คาดว่ายอดขายคูโบต้าจะเร่งตัวขึ้น มีสัดส่วนรายได้ราว 20% ของรายได้ทั้งหมด เมื่อเทียบกับ 14% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

"เราให้ราคาเป้าหมายสำหรับปีหน้าที่ 17 บาท downside ค่อนข้างจำกัดเพราะยอดขายรถยนต์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามจีดีพี เมื่อเศรษฐกิจดีการซื้อรถยนต์ก็จะสูงขึ้น รถยนต์คันแรกก็จะหมดก็จะทำให้เกิดการซื้อซ้ำครั้งใหญ่ ราคาพืชผลการเกษตรก็ดีต่อเนื่องน่าจะหนุนให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศกลับมาอยู่ที่ 8 แสนคันได้"นายธีรวุฒิ กล่าว

ด้านบล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับฟื้นตัวในช่วงหลังของปี 59 หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจากช่วงภัยแล้งในไตรมาส 2/59 ทำให้คาดว่ากำไรของ SAT จะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4/59 หนุนโดยอุปสงค์จากรถกระบะขนาด 1 ตัน และรถยานยนต์ทางการเกษตรที่สูงขึ้น แม้ว่ายอดขายและกำไรในไตรมาส 3/59 จะค่อนข้างต่ำซึ่งมีสาเหตุมาจากการย้ายฐานการผลิตของลูกค้ารายใหญ่

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่ายอดขายของ SAT ในปีนี้จะหดตัว 3% จากปีก่อน มาที่ 8.8 พันล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 6% ในปีหน้า ตามประมาณการปี 59 คาดว่า SAT จะมีกำไรจะอยู่ที่ 600 ล้านบาท ลดลง 6% จากปีที่แล้ว ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% มาที่ 665 ล้านบาท จากการที่บริษัทคาดว่าการใช้อัตรากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 65% จาก 60% ในปีนี้ โดย SAT เริ่มดำเนินการสร้างสายการผลิตใหม่ซึ่งผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สำหรับรถบรรทุก เพื่อรองรับการสั่งซื้อจากโตโยต้า คูโบต้า และ มิตซูบิชิ โดยรายได้จะเริ่มเข้ามาในช่วงปลายปี 59

ทั้งนี้ คาดว่า SAT จะมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีที่ 15% และกำไรสุทธิที่ 7.5% ในปี 60 ขณะที่หุ้น SAT ซื้อขายอยู่ในระดับ PER ปี 59 ที่ 9.3 เท่า และที่ 8.4 เท่า ในปี 60 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 10 เท่า จึงยังคงคำแนะนำ "ซื้อ"

ขณะที่บทวิเคราะห์บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า SAT เป็นผู้นำตลาดในด้านการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์และรถแทรกเตอร์ เช่น เพลา ดิสก์เบรกและดรุมเบรก สปริง เหล็กกันโคลง ฯลฯ โดยเป็นผู้จำหน่ายสินค้าให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำหลายบริษัท และผู้ผลิตเครื่องจักรทางการเกษตรอย่างเช่น โตโยต้า มิตซูบิชิ อีซูซุ นิสสัน เจเนอรัล มอเตอร์ส คูโบต้าและฮีโน่ เนื่องจากอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะฟื้นตัว SAT จึงสามารถใช้จุดแข็งของบริษัทในการกระตุ้นยอดขาย ในขณะที่บริษัทมีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะรองรับคำสั่งซื้อในอนาคต

นอกจากนี้ SAT ยังสามารถใช้มาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวให้น้อยที่สุด นอกจากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักรทางการเกษตรแล้ว SAT มีโครงการที่จะผลิตชิ้นส่วนสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้จะสามารถกระจายแหล่งรายได้เพื่อกระตุ้นรายรับรวมได้ด้วย

สำหรับตัวเลขอุตสาหกรรมยานยนต์ดีขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยการฟื้นตัวของยอดผลิตรถยนต์และยอดขายในประเทศ ทำให้เชื่อว่าบรรยากาศของตลาดยานยนต์จะยังคงดีขึ้นต่อไป ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมตกต่ำ โดยมีตัวเลขที่ลดลงในเดือนก.ค. แต่ยังมองว่าเป็นผลกระทบจากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในการย้ายฐานการผลิตและปรับแผนการผลิตอีกทั้งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโมเดลรถยนต์ ซึ่งเป็นปัญหาเพียงชั่วคราว

"เราเชื่อว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/59 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ภาวะภัยแล้งของประเทศที่สิ้นสุดลงและการสิ้นสุดของโครงการรถคันแรกน่าจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการรถยนต์ในที่สุด"เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์

เอเชีย เวลท์ ระบุอีกว่า ราคาเป้าหมายของ SAT ในปี 60 ให้ upside อยู่ราว 29% ขณะที่คาดว่า SAT จะให้อัตราเงินปันผลที่น่าสนใจอยู่ระหว่าง 4.1%-6.0% ในช่วงปี 59-61

อนึ่ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานว่ายอดการผลิตรถยนต์ในเดือนส.ค. มีทั้งสิ้น 1.56 แสนคัน ลดลง 1.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดการผลิตในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 1.3 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนส.ค. ยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 6.36 หมื่นคัน เพิ่มขึ้น 2.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4.9% จากเดือนก.ค.59 ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศภาคการบริโภคที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 8 เดือนแรกปีนี้อยู่ที่ 4.93 แสนคัน เพิ่มขึ้น 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ส.อ.ท. ตั้งเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่ระดับ 1.95-2 ล้านคัน เติบโต 2-4% จากปีก่อน โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศมีโอกาสขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 แสนคัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ