โบรกฯเชียร์"ซื้อ"TU มองผลบวกระยะยาวซื้อ Red Lobster เปิดช่องขยาย Retial เพิ่มอัพไซด์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 13, 2016 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เห็นพ้องแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จากการเข้าลงทุนใน Red Lobster เป็นภัตตาคารอาหารทะเลรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนแบ่งตลาด 50% เป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตของ TU ในการมีธุรกิจร้านอาหารที่เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง ประกอบกับ แบรนด์ Red Lobster แข็งแกร่ง และมีโอกาสขยายสาขาเข้ามาในเอเชีย จึงเห็นว่าการขยายเข้าสู่ธุรกิจภัตคาคารเป็นธุรกิจใหม่ที่จะทำให้บริษัทมี Supply Chain ครบวงจรมากขึ้น

แม้ช่วงแรก TU อาจต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อกิจการ Red Lobster ที่จะกดดันกำไรในไตรมาส 4/59 แต่คาดว่าในปี 60 จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกำไร ทำให้โบรกเกอร์ปรับประมาณการกำไรขึ้นมา 5-6% และปรับราคาเป้าหมายปีหน้าขึ้นไปราว 1-1.7 บาท/หุ้น แต่ยังมีโบรกเกอร์บางแห่งปรับลดประมาณการกำไรปี 60 ลง 2%

อย่างไรก็ดี ดีลซื้อกิจการ Red Lobster นี้ TU ไม่ได้เสียเปรียบ เพราะเข้าซื้อหุ้นสามัญสัดส่วน 25% และหุ้นบุริมสิทธิ์อีกส่วนหนึ่ง หากแปลงสิทธิเป็นหุ้นสามัญสัดส่วน 24% จะให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผล 8% ต่อปี ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายราว 700-800 ล้านบาทที่บริษัทกู้เงินมาเพื่อเข้าลงทุนครั้งนี้

ราคาหุ้น TU ปิดช่วงเช้าอยู่ที่ 20.10 บาท ลบ 0.50 บาท

          โบรกเกอร์          คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
          เมย์แบงก์กิมเอ็ง        ซื้อ               29.00
          ทรีนีตี้                ซื้อ               29.00
          บัวหลวง              ซื้อ               27.00
          ดีบีเอสฯ              ซื้อ               26.50
          ฟินันเซีย ไซรัส         ซื้อ               26.00
          ฟิลลิป                ซื้อ               23.50

นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง ยังคงแนะนำ"ซื้อ"หุ้น TU และปรับราคาเป้าหมายขึ้นมาจาก 26 บาท เป็น 27 บาท หรือปรับขึ้นมาประมาณ 4% เนื่องจากอัตราการเติบโตของธุรกิจหลักที่ยังคงแข็งแกร่งที่ 8% ต่อปี และอัพไซด์จากการดีลการเข้าซื้อกิจการใหม่ในอนาคต

ทั้งนี้ การที่ TU ลงทุนซื้อหุ้นบริษัท เรด ล็อบสเตอร์ มาสเตอร์ โฮลดิ้ง (Red Lobster) มูลค่า 575 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเข้าซื้อหุ้น 25% มูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ และซื้อหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ ซึ่งมีระยะเวลา 10 ปีมูลค่า 345 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ให้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญใน Red Lobster สัดส่วน 24% พร้อมด้วยอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 8% ต่อปี TU ใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นเป็นระยะเวลา 6 เดือนจำนวน 2 หมื่นล้านบาทจากธนาคารในประเทศก่อนที่จะแปลงสภาพwปเป็นหุ้นกู้สกุลบาท

ดีลนี้ได้รับผลดีทางการเงินสุทธิบวก โดยคาดว่าจะได้กำไรเข้ามาประมาณ 322 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 5% โดยมีรายได้จาก Red Lobster และได้เงินปันผล 8% หักดอกเบี้ยจ่าย

"โดยรวมดีลนี้ รายได้ให้ไม่มาก แต่ synergy ใหม่ในอนาคต เป็นกลยุทธ์ในการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่ด้านบริการร้านอาหารแก่กลุ่มผู้บริโภคสุดท้าย(Retail) การขยายร้าน Red Lobster ไปเอเชีย อย่างจีน และยังนำผลิตภัณฑ์ไปขายในร้านอาหาร TU ขยายช่องทางเจาะตลาด Retail"นายประสิทธิ กล่าว

อนึ่ง ร้าน Red Lobster มีสาขาที่ให้บริการมากที่สุดจำนวน 704 แห่งในเขตทวีปอเมริกาเหนือ หรือคิดเป็นมีส่วนแบ่งตลาด 50% ของกลุ่มร้านอาหารเฉพาะอาหารทะเล และมีสาขาในเอเชีย 50 สาขา ครึ่งหนึ่งอยู่ที่ญี่ปุ่น ปีที่ผ่านมามี EBITDA Margin ที่ 5.8% แต่คาดว่าใน 2 ปี EBITDA Margin ดีดกลับขึ้นมา 8% ซึ่งเป็นระดับที่เคยทำได้

ทั้งนี้ ปรับประมาณการกำไรในปี 60 เป็น 6.8 พันล้านบาท จากเดิมคาดไว้ที่ 6.5 พันล้านบาท และปี 59 คงประมาณการกำไรที่ 5.6 พันล้านบาท และรายได้ 1.3 แสนล้านบาท หรือ 3.9 พันล้านเหรียญ

ด้าน บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า การลงทุนใน Red Lobster จะสนับสนุนการเติบโตของ TU ในระยะยาว จากการมีธุรกิจปลายน้ำที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง มีโอกาสเติบโตจากการขยายร้านอาหารทั้งในอเมริกาและหลายประเทศ ด้วยจุดเด่นจากแบรนด์ร้านอาหารที่แข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนจะถูกชดเชยด้วยผลตอบแทนจากหน่วยลงทุนบุริมสิทธิ

เบื้องต้นคาดการลงทุนใน Red Lobster จะทำให้กำไรของ TU เพิ่มขึ้นจากประมาณการปี 60 ราว 5-6% ทำให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น 1.2-1.7 บาท/หุ้น จากราคาเป้าหมายเดิมที่ 29 บาท (PER 20 เท่า) เรายังคงให้ TU เป็น Top pick ของกลุ่มอาหาร ในการแนะนำ"ซื้อ"

ด้านนางสาวนารี อภิเศวตกานต์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ยังคงแนะนำ"ซื้อ"หุ้น TU แต่ปรับลดเป้าหมายเล็กน้อยมาที่ 23.50 บาทจากเดิม 23.70 บาท อย่างไรก็ตาม การที่ TU ลงทุน Red Lobster ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะลงทุน 2 หมื่นล้านบาทและมีภาระดอกเบี้ยจ่าย 700-800 ล้านบาทในปีหน้า แต่ยังมีผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิ์ 8%ต่อปี ช่วยไม่ให้เป็นภาระมาก และรายได้ Red Lobster มีราว 50-70 ล้านเหรียญ/ปี

แต่จากการเข้าซื้อกิจการ Red Lobster จึงมีการปรับลดประมาณการกำไรปี 59 ราว 4% และปี 60 ลดลง 2% มาที่ 5,193 ล้านบาท และ 6,599 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในไตรมาส 4/59 TU จะรับผลจากการเข้าซื้อกิจการที่จะมีค่าธรรมเนียมการซื้อกิจการ และดอกเบี้ยจ่าย

ขณะที่การเข้าลงทุนครั้งนี้จะช่วยยสร้างยอดขายของ TU ให้เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐ และคาดว่าในอนาคตจะขยายสินค้าในกลุ่ม Food service มากขึ้นทั้งในสหรัฐและภูมิภาคอื่น ๆ ให้กว้างขึ้นซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มสินค้าที่จะช่วยต่อการเติบโตและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ