MCOT เผยการเจรจา 3 ช่องค้างชำระค่าบริการ MUX เป็นไปในเชิงบวก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 20, 2016 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเศษ จียาศักดิ์ กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT) ชี้แจงในกรณีที่ผู้ใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) ของอสมท ซึ่งได้แก่ ช่องวอยซ์ทีวี, สปริงส์นิวส์ และไทยรัฐทีวี ค้างชำระค่าบริการโครงข่ายฯ ว่า ที่ผ่านมา อสมท ได้พยายามเจรจากับผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ เพื่อหาข้อยุติมาโดยตลอด และไตรมาสนี้มีความคืบหน้าในการเจรจาไปมาก และเชื่อว่าจะมีผลการเจรจาในเชิงบวก

ประเด็นหลักในการเจรจาประกอบด้วยโครงข่ายฯ อสมท ไม่เป็นพรีเมียม อสมท ขอชี้แจงในประเด็นนี้ว่า โครงข่ายฯ ของ อสมท รวมทั้งอุปกรณ์ที่ อสมท ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานที่ กสทช. กำหนดทุกประการ ส่วนกรณีที่ อสมท ไม่ได้ให้บริการสายอากาศในระบบ 2 แกน ตามที่ได้มีการประชาสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ นั้น อสมท ขอชี้แจงว่าหลังจากได้รับใบอนุญาตการให้บริการโครงข่ายฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 อสมท มีแผนในการติดตั้งโครงข่ายฯ ระบบสายอากาศแบบ 2 แกน ซึ่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กสทช. ได้มีมติให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายฯ ปฎิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช. คือ กำหนดให้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน

แต่สิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวตามที่ กสทช ระบุ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของ TPBS จำนวน 35 สถานี จากจำนวนสถานีหลักทั้งสิ้น 39 สถานี ซึ่งทั้ง 35 สถานีไม่รองรับการให้บริการระบบสายอากาศแบบ 2 แกน ส่วน 4 สถานีที่เหลือในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดศรีสะเกษ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของ อสมท ซึ่งในทั้ง 4 สถานีดังกล่าว อสมท ได้ให้บริการระบบสายอากาศแบบ 2 แกน ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรับชมตามหนังสือชี้ชวนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ อสมท มีมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการฯ ด้วยการลดอัตราค่าเช่าโครงข่ายฯ ต่อปีไปแล้ว

ส่วนกรณีที่ อสมท ติดตั้งโครงข่ายล่าช้ากว่ากำหนดของ กสทช.นั้น ขอชี้แจงว่า ในช่วงที่ 1 ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2557 ก่อนโครงข่ายฯ ครอบคลุม จำนวนครัวเรือน 50% มีความล่าช้าจริง ซึ่ง อสมท ได้พิจารณาแนวทางการเยียวยาค่าบริการดังกล่าวให้กับผู้ใช้บริการทั้ง 3 รายแล้วและอยู่ระหว่างการเจรจา อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีชำระค่าบริการล่าช้า

ในช่วงที่ 2 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 – พฤษภาคม 2559 แม้จะได้ขยายโครงข่ายจนครอบคลุมจำนวนครัวเรือนตามกรอบเวลาที่ กสทช.กำหนดแล้ว อย่างไรก็ตาม อสมท ยังคงมีแนวทางในการเยียวยาโดยลดค่าบริการให้ในอัตราที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย ทั้งนี้ จากการที่ผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย ชำระค่าบริการล่าช้า อสมท จึงคิดค่าชดเชย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทางบวกว่าผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จะชำระค่าบริการในช่วงที่ 2 นี้

ในช่วงที่ 3 ระหว่างเดือน มิถุนายน 2559 – ปัจจุบัน หลังจากที่มีการเจรจาเรื่องการชำระค่าบริการร่วมกับผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จน กสทช. ได้เข้ามาร่วมหารือจนเกิดการตรวจรับสัญญานทั่วประเทศร่วมกัน โดยมี กสทช. เป็นพยานและสรุปผลร่วมกันในเดือนพฤษภาคม 2559 จากนั้น อสมท และ ผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จึงได้เริ่มเจรจาเรื่อง การชำระค่าบริการคงค้างอีกครั้งซึ่ง อสมท ได้พิจารณาแนวทางการเยียวยาค่าบริการดังกล่าวให้กับผู้ใช้บริการทั้ง 3 รายแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจา อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าปรับจากการชำระค่าบริการล่าช้า

ขณะนี้ อสมท ได้ดำเนินการขยายสถานีโครงข่ายฯ ครอบคลุมจำนวนครัวเรือน 90% ตามแผนการขยายโครงข่ายฯ ของ กสทช. แล้วในอนาคตหลังจากนี้ นอกจาก อสมท จะมีการขยายโครงข่ายต่อไปตามแผนที่ กสทช กำหนด อสมท ยังมีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการโครงข่ายฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการสร้างสถานีเสริมเพื่อปรับปรุงการให้บริการในพื้นที่สำคัญ การพัฒนาระบบ monitoring และระบบการบำรุงรักษาซึ่งเป็นจุดแข็งของ อสมท ที่มีวิศวกรระบบโครงข่ายฯที่มีประสบการณ์สูงกว่า 150 นาย กระจายตามพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ และผู้ชมโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินให้อย่างดีที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ