SCI มั่นใจปีนี้มีกำไรสุทธิแม้ H1/59 ขาดทุน หลังงานสายส่ง-สถานีไฟฟ้าในลาวหนุน,ปี 60 โตต่อเนื่องหลังงานทยอยออกมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 21, 2016 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีไอ อีเลคตริค (SCI) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมั่นใจผลประกอบการปีนี้จะทำกำไรสุทธิได้ แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะมีผลขาดทุนสุทธิ 8.38 ล้านบาทก็ตาม โดยบริษัทจะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ไตรมาส 3/59 เป็นต้นไป เนื่องจากรับรู้รายได้งานโทรคมนาคม และเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่งานภาครัฐและเอกชนเริ่มทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังเริ่มรับรู้รายได้จากงานโครงการก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ที่สปป.ลาว มูลค่างาน 416 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 1.45 หมื่นล้านบาท

"ปีนี้เรามั่นใจว่าผลประกอบการจะออกมามีกำไรแน่นอนแม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีผลขาดทุนก็ตาม เป็นผลจากการรับรู้รายได้จากงานรับเหมาในประเทศลาวที่เริ่มรับรู้รายได้เข้ามา ซึ่งงานดังกล่าวมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 15% ใกล้เคียงกับสัญญาก่อนหน้านับว่าสูงกว่างานลักษณะเดียวกันกับภายในประเทศที่เฉลี่ยประมาณ 10% ประกอบกับงานผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์และบริการชุบสังกะสี ที่เป็นงานในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทั้งจากงานภาครัฐและเอกชนที่เริ่มออกมา"นายเกรียงไกร กล่าว

ปีที่แล้ว SCI มีกำไรสุทธิ 187.05 ล้านบาท และมีรายได้รวม 2.12 พันล้านบาท แต่ในปีนี้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิติดต่อกัน 2 งวดส่งผลให้ครึ่งแรกปีนี้มีผลขาดทุนสุทธิ 8.38 ล้านบาท และมีรายได้รวม 541.91 ล้านบาท ตามการชะลอตัวของโครงการทั้งในและต่างประเทศ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างลุ้นรับงานเสาไฟฟ้าแรงสูงในประเทศ 2 โครงการ ที่จะรู้ผลประมูลเร็วๆ นี้ มีมูลค่ารวมราว 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังเตรียมเซ็นสัญญารับงานส่วนที่เหลือช่วงปลายปีนี้ในลาว ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระยะที่ 2 (PDSR phase II) มูลค่า 67 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.35 พันล้านบาท และโครงการการรับเหมาติดตั้งระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง มูลค่า 306 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.05 หมื่นล้านบาท รวมมูลค่าราว 1.3 หมื่นล้านบาท "หลังจากนี้ไปอีก 3 ปี เราจะเห็นงานของ EGAT ออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งเราก็จะเดินหน้าเข้าประมูลงานจากผู้รับเหมาที่เข้าไปรับงานจาก EGAT นอกจากนี้เรายังเตรียมเซ็นสัญญารับงานในลาวส่วนที่เหลืออีก 2 โครงการ ซึ่งมีความล่าช้ามาจากเดิมเล็กน้อยเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนการเมืองในประเทศ แต่ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่ายังไงเราก็ได้งานอยู่แล้ว"นายเกรียงไกร กล่าว¶ นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 60 ว่า จะมีการเติบโตค่อนข้างมากทั้งในแง่รายได้และกำไรสุทธิ โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม ยังมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นจากทั้งงานภาครัฐและเอกชน ในขณะเดียวกันจะสามารถรับรู้รายได้จากงานในลาว ในโครงการก่อสร้างสายส่งและสถานีไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ราว 20-30% ของมูลค่างานทั้งหมด และอีก 2 โครงการที่จะเซ็นสัญญาในช่วงปลายปีนี้จะสามารถรับรู้เป็นรายได้ในปี 60 ราว 10-20% ของมูลค่างานทั้งหมด นอกจากนี้บริษัท ที ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) เพื่อทำธุรกิจสาธาณูปโภคพื้นฐานนั้น ปัจจุบันก็เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการลงทุนโครงการให้บริการด้านสาธารณูปโภคแล้ว แต่การลงทุนจะเกิดขึ้นคงเป็นปี 60 ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน บริษัทก็มีความสนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรรอบที่ 2 รวม 519 เมกะวัตต์ แต่อย่างไรก็ตามต้องรอภาครัฐสรุปอัตรารับซื้อไฟฟ้า FiT หากอยู่ที่ 5.60 บาท/หน่วย ก็จะเข้าร่วม แต่ถ้าหากปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.12 บาท/หน่วย ก็อาจจะต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง ในส่วนของต่างประเทศก็ยังต้องรอความชัดเจนในการศึกษาก่อน "ปีหน้าเราจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเราจะรับรู้รายได้จากโครงการในประเทศลาวเข้ามาเยอะ ในขณะเดียวกันทิศทางของธุรกิจจำหน่ายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม ก็ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย ในส่วนของ TU เองก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นมาเยอะแล้ว และในปีหน้าคงเห็นการลงทุน ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังมีเงินทุนมากเพียงพอ เพราะเราเหลือเงินจาก IPO อยู่ราว 700 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.1 เท่า"นายเกรียงไกร กล่าว สำหรับโครงการโรงงานผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารในเมียนมา ปัจจุบันได้เริ่มก่อสร้างแล้ว ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 95% และที่เหลืออีก 5% เป็นพันธมิตรท้องถิ่น มูลค่าการลงทุนรวม 16 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 60 และเริ่มจำหน่ายสินค้าได้ในช่วงปี 61 มีกำลังการผลิตทั้งหมด 7,500 ตัน/ปี "เราคุยกับลูกค้าในพม่าอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยราคาที่เรายังไม่สามารถสู้กับสินค้าจากจีนได้ เราจึงต้องเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศเลย ซึ่งการเข้าไปลงทุนนอกจากค่าวัตถุดิบที่จะต่ำลงแล้ว ค่าแรงก็ยังต่ำลงด้วย และเรายังได้บีโอไอเป็นระยะเวลา 7 ปี ทำให้เราสามาถแข่งขันได้ ซึ่งในช่วงแรกยอดขายอาจจะไม่มากนักเพราะการลงทุนของภาครัฐฯยังไม่เยอะ แต่หลังจากการลงทุนของต่างชาติเข้าไปเยอะ รัฐฯก็จะเก็บภาษีได้ และเมื่อนั้นการลงทุนจะมากขึ้นตาม ซึ่งเรามองว่าคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง"นายเกรียงไกร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ