(เพิ่มเติม) IRPC เผยกลุ่มปตท.ลดขนาดลงทุนปิโตรฯคอมเพล็กซ์เวียดนามคาดชัดเจนที่ตั้ง-พันธมิตรร่วมทุนปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 25, 2016 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นของโครงการลงทุนโรงกลั่นและปิโตรคอมเพล็กซ์ในเวียดนามของกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ฉบับปรับปรุงใหม่ (Victory Project Reconfiguration) ปรับขนาดการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันลงเหลือ 2 แสนบาร์เรล/วัน จากเดิม 4 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อเน้นเป็นวัตถุดิบป้อนผลิตปิโตรเคมีเป็นหลัก หลังมาร์จิ้นธุรกิจโรงกลั่นยังไม่ดี และในอนาคตอาจจะได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า โดยการปรับลดขนาดการลงทุนดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการลงทุนปรับลดลงเหลือราว 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมที่ 1.8-2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

"สาเหตุใหญ่มาจากว่าปัจจุบัน refinary มาร์จิ้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอีก ถ้ารถไฟฟ้าเข้ามาเยอะ การบริโภคน้ำมันก็จะน้อยลง ก็จะมีปัญหา เลยคิดว่าน่าจะเปลี่ยน concept แต่เดิม concept จะสร้างโรงกลั่น world scale โอเลฟินส์ world scale อะโรเมติกส์ world scale แต่ตอนนี้เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมโรงกลั่นมีความเสี่ยงสูง อยู่ที่ว่าเทคโนโลยีรถไฟฟ้ามาเร็วขนาดไหน ถ้ามาเร็วมากที่คาดการณ์ไว้ก็มีผลกระทบส่วนโรงกลั่นทันทีเลย ก็เลยเปลี่ยน concept

เราไม่เน้นโรงกลั่น world scale แล้วกัน เน้นว่าโรงกลั่นทำหน้าที่มีวัตถุดิบป้อนปิโตรเคมีอย่างเดียว ซึ่งก็ prove ว่าทำได้ จากการ Reconfiguration Study ทำได้จะเห็นได้ว่า yield เพิ่มเป็นสองเท่าได้เลย เหมือนกันที่เราทำ world scale โอเลฟินส์ และ world scale อะโรเมติกส์ crude 2 แสนบาร์เรลก็ทำได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปถึง 4 แสนบาร์เรล"นายสุกฤตย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปี 60 โดยจะต้องเจรจากับหน่วยงานของจังหวัด Binh Dinh ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการว่าจะยังให้การสนับสนุนอยู่หรือไม่ หลังจากที่โครงการได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 57 แต่เกิดความล่าช้า เพราะท่าทีขณะนี้ทางจังหวัดอาจเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้จะเดินทางไปหารือกับทางจังหวัด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

หากทางจังหวัดยังคงให้การสนับสนุนอยู่ทางกลุ่ม ปตท.ก็จะเดินหน้าเรื่องหาพันธมิตรร่วมทุนต่อไป หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัท ซาอุดิอารัมโก (Saudi Aramco) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียได้ถอนตัวจากการร่วมทุน 40% ในโครงการ โดยขณะนี้มีพันธมิตรต่างชาติรายอื่นให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุน และ ปตท.จะยังคงถือหุ้นใหญ่ 50% ส่วนจะเป็นบริษัทใดในกลุ่ม ปตท.เป็นผู้ลงทุนนั้นต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง

ทั้งนี้ เมื่อได้พันธมิตรใหม่แล้ว กลุ่ม ปตท.จะเดินหน้าศึกษารายละเอียดของโครงการต่อไป แต่หากทางจังหวัด Binh Dinh ไม่พร้อมสนับสนุนโครงการ ทางกลุ่ม ปตท.อาจต้องพิจารณาพื้นที่ใหม่ แต่จะยังอยู่ในเวียดนาม เพราะมีความต้องการใช้ปิโตรเคมีค่อนข้างสูง โดยความต้องการใช้เติบโตมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวปีละ 6-7% ขณะที่ปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอ เพราะเวียดนามมีโรงกลั่นเพียง 2 แห่ง โดยโรงแรกกลั่น 1 แสนบาร์เรล/วัน ทำโพรพิลีนบางส่วน ส่วนโรงที่ 2 แล้วเสร็จปลายปีหน้า กำลังกลั่น 2 แสนบาร์เรล/วัน เน้นการกลั่นและทำอะโรเมติกส์บ้าง

ขณะที่จะมีโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ Long Son Petrochemicals ของกลุ่มบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ของเวียดนามที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี แต่ความต้องการใช้เติบโตขึ้นทุกปี เชื่อว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จปริมาณการผลิตปิโตรเคมีในเวียดนามก็จะยังไม่เพียงพออยู่ดี ดังนั้น โครงการของกลุ่มปตท.ก็สามารถเข้าไปทดแทนได้อีกส่วนหนึ่ง

สำหรับโครงการของกลุ่ม SCC นั้น ปัจจุบันก็เปิดกว้างในการหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนหลังจากที่กลุ่ม Qatar Petroleum International ขอถอนตัวจากการลงทุนออกไป โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท.ก็ให้ความสนใจเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวเช่นกัน

"แนวทางโครงการที่ Victory เดิมคือ integrated โรงกลั่น โอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ เพื่อให้ได้เปลี่ยนทางด้าน integration ให้ synergy เพื่อให้แข่งขันได้ แต่โปรเจคของ SCC เป็น stand alone เป็นโครงการโอเลฟินส์ concept อาจจะไม่ตรงกัน...ทำควบคู่กันไปก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะดีมานด์ของเวียดนามโตเร็วเหลือเกินในแง่การบริโภคปิโตรเคมี ถ้าบริษัทอื่นในกลุ่มปตท.ไป join กับ SCC ไออาร์พีซี ก็ทำโครงการนี้ต่อไม่น่ามีปัญหาเพราะเวียดนามยังเป็น net import ปิโตรเคมีอยู่ไม่น่ามีปัญหาอะไร"นายสุกฤตย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ กล่าวอีกว่า โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามนี้ทางบริษัทได้รับอนุมัติจากปตท. ให้ทำการศึกษาต่อยอดจากที่ปตท.เคยศึกษาไว้ ภาพรวมทั้งโครงการคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้าก่อนไปศึกษารายละเอียด จากนั้นจะมาหารือต่อไปว่าผู้ร่วมทุนที่มาจากฝ่ายปตท.จะมีบริษัทใดบ้าง ขณะที่ทั้งโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66-67

ทั้งนี้ เบื้องต้นผลศึกษาของบริษัทจะใช้เงินลงทุน 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาด 2 แสนบาร์เรล/วัน โดยจะมีผลผลิตเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน รวม 7-8 หมื่นบาร์เรล/วัน หรือราว 35-40% เท่านั้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี ประเภทต่าง ๆ เช่น LLDPE, HDPE, PP, PX, Benzene ,Butadiene เป็นต้น คาดว่าจะสร้างกำไรขั้นต้นจากการกลุ่มผลิตของกลุ่ม (GIM) ระดับ 25-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ระดับ 12-14%

สำหรับการลงทุนใหม่ภายในประเทศของบริษัทนั้น ขณะนี้ให้ความสนใจโครงการพาราไซลีน (PX) ที่บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเอง จากเดิมที่เคยศึกษาโครงการร่วมกับบมจ.ไทยออยล์ (TOP) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอม (PTTGC) แต่เกิดความล่าช้า โดยบริษัทต้องการผลิต PX ขนาด 9 แสนตัน/ปี นำวัตถุดิบจากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่น ทำให้มีผลิตภัณฑ์ LCN (Light Cracked Naphtha) ซึ่งมีอะโรเมติกส์คอนเท้นท์สูงออกมาด้วย ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพาราไซลีน

"การเกิดโครงการ PX ขึ้นกับ timing ขึ้นอยู่กับความสามารถในการลงทุนของไออาร์พีซีด้วย เพราะ PX ใช้เงินไม่เยอะเท่าไหร่เทียบกับ Victory ถ้าเราสามารถทำกำไรได้ตามแผนก็อาจจะลง PX ก่อนแล้วไปต่อยอด Victory ที่หลัง เพราะ Victory ใช้เวลา 6-7 ปี แต่ PX ใช้เวลาแค่ 3-4 ปีก็ได้แล้ว ต้องดูสถานการณ์และดูความสามารถในการลงทุนของไออาร์พีซีเองด้วย เราคงไม่ลงทุน 2 โครงการพร้อมกัน"นายสุกฤตย์ กล่าว

นายสุกฤตย์ กล่าวถึงแนวโน้มผลประกอบการในปีนี้ว่า บริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าจะมีกำไรสุทธิมากกว่า 9.4 พันล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งจะทำระดับสูงสุดใหม่ แม้ว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) นั้นก็อาจจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย หลังโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านนั้นสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และ ภาษี (EBIT) ได้เพียง 2.7 พันล้านบาทต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะสร้าง EBIT ได้ 3.4 พันล้านบาทในปีนี้ หลังโครงการ UHV ล่าช้ากว่าแผนโดยมาเปิดดำเนินการได้ในเดือนก.ค. จากเดิมที่ต้องเดินเครื่องผลิตในไตรมาส 1/59 ขณะที่แนวโน้ม GIM ในปีนี้ก็จะต่ำกว่าปีที่แล้วด้วย

แต่ในส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้ ๆ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้คาดว่าธุรกิจโรงกลั่นในสิ้นไตรมาส 4/59 น่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน แม้ว่ามาร์จิ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะต่ำกว่าครึ่งปีแรกก็ตาม

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นมาในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากคาดหวังว่าการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในสิ้นเดือนพ.ย.นี้ จะออกมาในทางบวก หลังจากที่ที่ประชุมโอเปกอย่างไม่เป็นทางการมีมติที่จะปรับลดการผลิตน้ำมันลงมาที่ระดับ 32.5-33.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่ระดับ 33.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวระดับนี้อยู่ เพราะปัจจุบันสต็อกน้ำมันดิบยังอยู่ระดับสูงอยู่ คงต้องใช้ระยะเวลาให้สต็อกน้ำมันดิบลดลงจึงจะมีผลต่อราคา

เบื้องต้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ ในปีหน้าจะสูงกว่าปีนี้ประมาณ 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพราะความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าจะสูงกว่าปีนี้ราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน ถ้ามีการควบคุมการผลิตน้ำมันก็จะทำให้ความต้องการใช้และปริมาณการผลิตน้ำม้นเข้าสู่จุดสมดุลใหม่ในปีหน้า น่าจะช่วยหนุนราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่คงไม่มากเพราะก็จะมีการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale oil และ shale gas) เพิ่มขึ้นมาอย่างช้า ๆ

ส่วนในปีหน้าคาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทจะยังคงทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง แม้คาดว่า GIM จะลดลงเล็กน้อย จากมาร์จิ้นของธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลงตามกำลังผลิตใหม่ที่เข้ามา แต่มาร์จิ้นของธุรกิจโรงกลั่นน่าจะกระเตื้องขึ้นจากที่ยังไม่มีโรงกลั่นใหม่เข้ามา ขณะที่บริษัทมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเคมีราว 60% ทำให้ได้รับผลกระทบจากมาร์จิ้นของธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลงด้วย รวมถึงจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นครั้งใหญ่เป็นเวลา 30 วันในเดือน ก.พ.60 แต่ในส่วนกำลังกลั่นน่าจะทำได้ใกล้เคียงปีนี้ที่ราว 1.8 แสนบาร์เรล/วัน หลังโครงการ UHV จะเดินเครื่องผลิตได้เต็มปีในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ได้รับประโยชน์จากโครงการ UHV เต็มที่

นอกจากนี้ โครงการขยายกำลังผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตัน/ปี จะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/60 ก็จะทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย รวมถึงในปีหน้าบริษัทมีแผนรีไฟแนนซ์หนี้เดิมที่นจะครบกำหนดในปีหน้า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีภาระจ่ายดอกเบี้ยลดลง ซึ่งคาดว่าจะเป็นการกู้ยืมจาก 3 ธนาคารในประเทศวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท อายุ 7-8 ปี อัตราดอกเบี้ยลดลง 1% จากปัจจุบันที่มีภาระดอกเบี้ยกว่า 4% ขณะที่วงเงินอีกส่วนหนึ่งอาจจะออกเป็นหุ้นกู้หรือกู้ยืมธนาคาร

สำหรับแผนการลงทุนในปีหน้า คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการขยายกำลังผลิต PP ราว 6 พันล้านบาท และงบลงทุนตามปกติอีกราว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนอื่น ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ