PSTC คาดพ.ย.สรุปร่วมทุนโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ,กำไร-รายได้ปี 60 โตมากหลังทยอย COD ครบ 45.3 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 9, 2016 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพระนาย กังวาลรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะสรุปการเข้าลงทุนได้ภายในเดือนพ.ย.นี้ ขณะที่โครงการดังกล่าวมีกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ และมีสัญญาขายไฟฟ้า 2.5 เมกะวัตต์ คาดจะใช้เงินลงทุนในโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท

"ตอนนี้เราอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนในโครงการขยะจากอุตสาหกรรม เราก็หวังว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมากในการลงทุนโครงการนี้ ซึ่งบริษัทมีเงินทุนมากเพียงพอ โดยปัจจุบันมีเงินสดในมือราว 400 ล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 1 เท่ากว่า"นายพระนาย กล่าว

อนึ่ง บริษัท พีจี แอนด์ ซี 5714 จำกัด เป็น 1 ใน 7 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการรับซื้อไฟฟ้าพิเศษจากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ซึ่งหลังจากนี้ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน หรือภายในวันที่ 25 ก.พ. 60 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนธ.ค.62

นายพระนาย กล่าวถึงภาพรวมผลประกอบการในปี 60 โดยคาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่รายได้ และกำไรสุทธิ ตามการผลิตไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น หลังจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ทยอยเข้าระบบครบตามสัดส่วนร่วมทุนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ทั้งหมด 45.3 เมกะวัตต์ในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้ว 19.7 เมกะวัตต์ และในต้นเดือน ธ.ค.นี้คาดว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ภาคเกษตร จะ COD อีก 2 โครงการรวม 10 เมกะวัตต์

ส่วนกำลังการผลิตที่เหลือ ได้แก่ โรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 8.6 เมกะวัตต์ จะ COD ในช่วงไตรมาส 3/60 และโรงไฟฟ้าจากชีวมวล 7 โครงการ รวม 7 เมกะวัตต์ จะทยอย COD ในปีหน้าทั้งหมด

ส่วนของธุรกิจหลักเดิม คือ ธุรกิจออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าและตรวจวัดจัดการสภาพแวดล้อม ในปี 60 จะยังมีสัดส่วนรายได้เป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด หรือที่ราว 300-400 ล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ราว 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีหน้า

"หากสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เต็มปี เต็มกำลังการผลิตที่ 45.3 เมกะวัตต์ ก็จะมีรายได้ที่ราว 1,200 ล้านบาท แต่ปีหน้าเราจะยังรับรู้ฯได้ไม่เต็มที่เพราะเป็นการทยอยจ่ายไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็จะมีรายได้จากธุรกิจหลักเดิมราว 300-400 ล้านบาท ซึ่งในธุรกิจนี้ก็ยังมีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปอยู่ ซึ่งจะทำให้ปี 60 มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากปีนี้ที่บริษัทอยู่ในช่วงของการปรับปรุงโครงการต่าง ๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้สามารถผลิตได้เต็มจำนวน ซึ่งก็จะเห็นได้จากกำไรสุทธิที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ"นายพระนาย กล่าว

นายพระนาย กล่าวอีกว่า ส่วนการที่ กกพ. จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนจำนวนประมาณ 140 เมกะวัตต์นั้น บริษัทก็มีความสนใจและมีความสามารถในการเข้ายื่นขอใบอนุญาตได้ทั้งหมด 3 โครงการ แบ่งเป็นโครงการละ 8 เมกะวัตต์ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันทาง กกพ. เองยังไม่ได้เปิดเผยพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะเปิดให้ขอใบอนุญาต ซึ่งบริษัทยังต้องติดตามว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่บริษัทเตรียมไว้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ