UPA เผยผถห.ไฟเขียวให้สัตยาบันลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา 200 MW พร้อมทำสัญญาซื้อขายไฟกับ MEPE

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 6, 2016 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ. ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) รายงานว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมติอนุมัติให้สัตยาบันในการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) ระหว่างบริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ จำกัด (Myanmar UPA Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ กับการไฟฟ้าแห่งสหภาพเมียนมาร์ (Myanmar Electric Power Enterprise: MEPE) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและจัดจำหน่ายไฟฟ้า เนื่องจากการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เป็นการต่อยอดและขยายฐานธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ซึ่งบริษัทฯได้เริ่มขยายฐานธุรกิจมายังธุรกิจพลังงานจากการเข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท อันดามันเพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด (APU) ให้กว้างขวางและต่อเนื่องยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน APU มีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 1 โครงการ (โรงไฟฟ้า เฟส 1) กำลังการผลิต 6-20 เมกะวัตต์ และมีระยะเวลาของสัญญา 2 ปี แต่การเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในครั้งนี้เป็นการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า เฟส 2 ที่ดำเนินการโดย MUPA กำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ และมีระยะเวลาของสัญญา 30 ปี จึงมีความแน่นอนมั่นคงกว่า เนื่องจากเป็นสัญญาระยะยาวและสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวอันจะส่งผลให้บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ยังจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและบทบาทของบริษัทฯ ในธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นระดับสากล ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้บริษัทฯ ต่อยอดในธุรกิจดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องและกว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจระยะยาว เสริมความแข็งแกร่งในด้านการเงินของกิจการและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเฟส 2 ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอกันบก 2.4 กิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ของโครงการประมาณ 59 ไร่ ดำเนินการก่อสร้างและลงทุนโครงการโดยบริษัทย่อย ที่จะเช่าที่ดินจาก MEPE ภายใต้สัญญาเช่าระยะยาวจนถึงวันสิ้นสุดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีกำหนดการก่อสร้างเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี เมื่อก่อสร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 210 เมกะวัตต์ โดยจะสามารถผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ MEPE ด้วยกำลังผลิตตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 200 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทย่อยจะรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าเฟส 2 ตามพลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายจริง ในอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และมีอายุสัญญาเป็นระยะเวลา 30 ปีนับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามเงื่อนไขการมีผลบังคับของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมดครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท วอเล่ย์พาร์สันส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางวิศวกรรมในการเริ่มต้นโครงการ ออกแบบ คำนวณต้นทุนและวิเคราะห์โครงการ วางแผนและควบคุมการก่อสร้างจนกระทั่งโครงการสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่ารายงานของวอเล่ย์พาร์สันส์ฯจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1/60 โดยผลที่ได้น่าจะก่อให้เกิดความชัดเจนกับการประเมินความคุ้มค่าของโครงการและการขอรับใบอนุญาตต่างๆ

เนื่องจากรายงานของวอเล่ย์พาร์สันส์ฯ จะมีความชัดเจนในรายละเอียดที่มีลักษณะเฉพาะของโครงการโรงไฟฟ้า เฟส 2 ที่มากกว่ารายงานการศึกษาโครงการในเบื้องต้นทางด้านเทคนิคและทางด้านการเงิน (Pre-feasibility Report) ของ EEC นอกจากนี้จะเป็นการลดความเสี่ยงของความไม่แน่นอนของการก่อสร้างโครงการและจะทำให้ Risk Premium ในการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า เฟส 2 ลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินโครงการมีความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นอีกด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตือนให้ผู้ถือหุ้น UPA ศึกษาข้อมูลและไปใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.59 เพื่อพิจารณาให้สัตยาบันในการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างบริษัท เมียนมาร์ ยูพีเอ จำกัด (MUPA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ UPA กับ MEPE หลังที่ปรึกษาทางการเงินอิสระฯเห็นว่าการลงทุนดังกล่าว อาจจะทำให้ผลตอบแทนที่เป็นลบในการลงทุนและการลงทุนมีความไม่เหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ