FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลง เม็ดเงินไหลออกจากนโยบายทรัมป์-เก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 6, 2016 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนธ.ค.59 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.พ.60) อยู่ที่ 95.69 ปรับตัวลดลง 8.47% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 104.55 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ปรับตัวลดลงถึง 12.50% แต่ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือการไหลออกของเงินทุน

ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทรัมป์และการส่งสัญญาณลดการกระตุ้นนโยบายการเงินของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นในเอเชีย 6 ประเทศหลัก ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ เกาหลี ไต้หวัน และไทย ก็ขายออกเพื่อถือเงินสด มากถึง 4 แสนล้านบาท หรือ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ไทยมีเงินทุนไหลออกไม่ถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้เคลื่อนไหวตามทิศทางของตลาดต่างประเทศในภูมิภาค ตามคาดการณ์ผลกระทบจากนโยบายทางเศรษฐกิจภายหลังผลการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐ และความเป็นไปได้สูงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในเดือน ธ.ค.นี้

นางวรวรรณ กล่าวว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งดูได้จากบัญชีเกินดุลการค้าอยู่ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกินดุลกว่า 8% ของจีดีพี และมีเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ สูงถึงราว 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นอันดับ 12 ของโลก ขณะที่ภาระหนี้พันธบัตรของรัฐบาลไทยมีสัดส่วนต่างชาติถือเพียง 9-10% ต่างกับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีสัดส่วนสูงถึง 35-40% และธนาคารพาณิชย์ของไทยมีการตั้งสำรองหนี้ไว้สูงมาก ทั้งนี้ การออ่อนค่าของเงินริงกิตอย่างมาก ทำให้รัฐบาลมาเลเซียออกมาใช้มาตรการ Capital Control คาดว่าไทยไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ส่วนผลกระทบจากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะกีดกันการค้ากับคู่ค้า เชื่อว่าไทยจะได้รับผลกระทบไม่มาก โดยสหรัฐเป็นประเทศที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 5 แต่จะส่งผลกระทบต่อจีนมากกว่า

ส่วนปัจจัยในประเทศ ประธานกรรมการ FETCO มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 มีแนวโน้มจะขยายตัว 3.2% ใกล้เคียงปีนี้ที่คาดว่าจะโต 3.2 % เนื่องจากการบริโภคภายในยังปรับตัวดีขึ้น สินค้าเกษตรดีขึ้นจะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น รวมทั้งมีวันหยุดยาว ช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย รวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศน่าจะเห็นการก่อสร้างได้ในครึ่งหลังปี 60 การท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยบวกเป็นหลัก และการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 0.4 -1.4% ส่วนเงินเฟ้อคาดจะอยู่ที่ 1.5% จากปีนี้คาดอยู่ที่ 0.3% และเงินบาทในปี 60 จะอยู่ที่ 37.50 บาท/ดอลลาร์ จากปีนี้ 35.75 บาท/ดอลลาร์

ด้านนายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากนโยบายของนายทรัมป์ คาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้ดีมากในปี 60 ขณะที่คาดว่าในปีหน้าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จำนวน 3-5 ครั้ง หลังจากที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.นี้

สำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป จะมีแนวโน้มการลงทุนตลาดหุ้นดีกว่าปีนี้ โดยสหรัฐ คาดว่าจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ ส่วนเอเชียจะโตไม่มาก ขณะที่จีน และอินดียคาดว่าจะมีเศรษฐกิจที่แย่ลง เนื่องจากมีนโยบายการค้าระหว่างประเทศกับสหรัฐอยู่จำนวนมาก รองลงมาเป็น อาเซียน ดังนั้น ตลาดหุ้นใน Emerging Market จะไม่ค่อยดี

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยคาดว่าในปี 60 กรอบดัชนีอยู่ที่ 1,400 -1,600 จุด เนื่องจากคาดว่าบริษัทจดทะเบียนมีอัตราเติบโตของกำไรสุทธิ 8% จากปีนี้ และมี Valuation สูง โดย ที่ระดับ 1,600 จุดมี P/E ที่ 16.5 เท่า โดยมีปัจัยหลักมาจากนโยบายเศรษฐกิจของนายทรัมป์ รองลงมาจากการเมืองในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งในปีหน้า ฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งมีแนวโน้มว่า ฝรั่งเศส และอิตาลี จะแยกตัวออกจากลุ่มยูโร

"ปีหน้าดัชนีขึ้นลง 100 จุด เชื่อว่าวอลุ่มซื้อขายคงหายไป คงไม่ค่อยเทรดกัน แต่เชื่อว่าข่าวร้ายจำกัด ขาลงแทบไม่ค่อยมี" นายวิน กล่าว

นายวิน กล่าวอีกว่า สำหรับในประเทศยังมีปัจจัยที่ช่วยประคองตลาดหุ้นไทยในปีหน้า ทั้งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ตามแผน มีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท จำนวน 20 โครงการ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ