รฟม.มั่นใจเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจบใน 16 ธ.ค.นี้-เสนอครม.เห็นชอบในก.พ. 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 7, 2016 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มั่นใจว่าการเจรจาเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 26.9 กม.กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) จะได้ข้อยุติภายในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ หลังได้ขยายเวลาเจรจาออกไป 30 วัน ตามคำสั่ง ม.44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยขณะนี้มีเพียงไม่กี่ประเด็นที่ยังอยู่ระหว่างเจรจาได้แก่ การแบ่งปันผลประโยชน์, ผลตอบแทนซึ่งเกี่ยวข้องกับการประเมินปริมาณผู้โดยสารในอนาคต เป็นต้น ส่วนด้านเทคนิคได้เจรจาจบแล้ว

"ผมมั่นใจว่าเจรจาได้เสร็จก่อน 16 ธันวาคม จากนั้นรฟม.จะเสนอเรื่องไปยัง สคร. และส่งให้อัยการสูงสุด แล้วทั้งสองหน่วยงานจะนำส่งให้กระทรวงคมนาคม คาดว่า กุมภาพันธ์ 60 จะเสนอครม.เพื่อให้ความห็นชอบได้" นายพีระยุทธ กล่าว

ทั้งนี้ สัญญาสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้ระยะเวลา 33 ปี โดย 3 ปีเป็นงานก่อสร้างระบบรางและจัดหารถ ขณะเดียวกันสัญญาสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค หรือเส้นทางปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดในปี 2572 จะขยายมาสิ้นสุดสัญญาในระยะเวลาเดียวกันคือในปี 2593

นอกจากนี้ คณะกรรมการมาตรา 35 และ คณะกรรมการมาตรา 45 เห็นควรให้รฟม.เร่งรัดปรับปรุงการเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานี ระหว่างสถานีบางซื่อและสถานีเตาปูน รฟม.จึงได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม และนำเสนอครม.เห็นชอบ จากก่อนหน้านี้ รฟม.ได้เคยเสนอให้กระทรวงคมนาคมแล้ว แต่เห็นว่าได้มีการเจรจาการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินจึงให้เจรจาพร้อมกันในคราวเดียวกัน แต่ต่อมาการเจรจาดังกล่าวล่าช้าออกไป จึงเห็นว่าควรจะแยกดำเนินการเชื่อมต่อ 1 สถานีก่อน โดยใช้งบลงทุน 693 ล้านบาท และค่าจ้างเดินรถ 52 ล้านบาท/ปี ระยะเวลา 2 ปี โดย BEM จะใช้เวลา 6 เดือนในการวางระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งทดลองเดินรถ 2 เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ในเดือน ส.ค.60 อย่างไรก็ดี สัญญาในส่วนนี้จะเข้ารวมกับสัญญาเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินในภายหลัง

สำหรับการโอนกรรมสิทธิโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งสองด้าน คือช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมระยะทาง 25 กม.นั้น ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่าในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะได้ข้อยุติว่า กรุงเทพมหานคร (กทม) จะรับโอนกรรมสิทธิหรือไม่ โดยจะต้องมีการโอนหนี้สิน ซึ่งเป็นค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนราว 2 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งโอนทรัพย์สินด้วย ทั้งนี้ได้ส่งเรื่องไปกระทรวงคมนาคมเพื่อให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เป็นผู้ชี้ขาด เพราะหาก กทม.ไม่พร้อมรับโอนหนี้สินดังกล่ว ทางรฟม.ได้เตรียมแผนที่จะเข้าเดินรถเอง อย่างไรก็ดี เบื้องต้นทราบว่า ทางกทม.ได้เจรจาให้บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็บบริษัทในกลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เดินรถต่อเนื่องจากเส้นทางสายสีเขียวในปัจจุบัน ซึ่งรฟม.คาดว่าจะให้ BTS เป็นผู้เดินรถต่อเนื่อง ดังนั้น การเดินรถส่วนแบริ่ง-สมุทรปราการที่เลื่อนเปิดให้บริการเป็น มี.ค.60 จากเดิมกำหนดไว้ในเดือน ธ.ค.59

"เรื่องการโอนหนี้สินและทรัพย์สินสายสีเขียวเหนือ-ใต้ไปให้กทม.ที่ทางกทม.ยังไม่พร้อม รฟม.อาจจะให้กทม.เช่า ถ้า Worst Case รฟม.จะทำเอง อย่างไรก็ดี จะเอาเรื่องนี้ไปคุยกันในที่ประชุมคจร.ในสัปดาห์หน้า" นายพีระยุทธ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ