ตลท.-ThaiBMA มองกรณีผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ไม่กระทบภาพรวม แต่ส่งผลต้นทุนดอกเบี้ยขยับขึ้น แนะบริษัทฯดูแลเรื่องสภาพคล่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 12, 2017 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงกรณีการผิดนัดชำระตั๋วเงินระยะสั้น(B/E) ของบมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) นั้น ตลท.มีหน้าที่รับแจ้งจำนวนหนี้เท่านั้น แต่วิธีการชำระหนี้ต่าง ๆ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ถือตราสารหนี้จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อความมั่นใจในการเข้าลงทุนในตั๋ว B/E ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ต่าง ๆ ยังปกติอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ซื้อตั๋ว B/E ส่วนใหญ่ก็เป็นนักลงทุนสถาบันซึ่งมีความรู้และระมัดระวังมากอยู่แล้ว

"ทางเราก็ได้มีการประสานงานพูดคุย กับทา สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) อยู่แล้ว เพื่อที่จะให้ตรวจสอบเรื่องของคุณภาพของตั๋ว B/E ที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งเราก็มองว่าความมั่นใจการลงทุนก็ยังปกติอยู่ และด้วยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้าไปลงทุนจะเป็นนักลงทุนสถาบันที่มีความรู้และระมัดระวังอยู่แล้วจึงไม่ได้กังวล"นางเกศรา กล่าว

ด้านนายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ที่ผ่านมา อาจมาจากการคาดการณ์สภาพคล่องผิดพลาดและความขัดแย้งของกลุ่มผู้บริหาร ซึ่งลักษณะของตั๋ว B/E เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีทั้งที่มีเรตติ้งและไม่มีเรตติ้ง

สำหรับผลกระทบจากการผิดนัดชำระ อาจจะส่งผลต่อบริษัทอื่น ๆ ที่จะออกจะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น เพราะกลุ่มคนที่สนใจลงทุนอาจจะเรียกร้องผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับภาวะตลาด

"สิ่งแรกที่ชัดคือ ตั๋ว B/E ระยะสั้นอีกหลาย ๆ บริษัท ก็ยังมีคุณภาพที่ดี และช่วงนี้ดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้น ทางสมาคมฯจึงอยากจะเตือนผู้ออกว่าสถานการณ์ที่คิดว่าจะ roll over (ครบกำหนดแล้วก็ออกตั๋วออกมาขายต่อเรื่อยๆ) ได้ตลอดเวลา สถานการณ์อาจไม่ใช่แบบนั้นแล้ว จึงอยากจะบอกว่าถ้าใกล้ครบกำหนด ผู้ออกควรเตรียมสภาพคล่องให้เพียงพอ และต้องยอมรับว่าอาจจะ roll over ไม่ได้ และมองว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจากที่ผ่านมา มีการลงทุน B/E มากจนเกินไป จากที่คิดว่าไม่มีความเสี่ยง ตอนนี้กลับมาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว มีความเสี่ยงน้อย หรือพันธบัตรรัฐบาลแทน และยังต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา"นายธาดา กล่าว

ช่วงที่ผ่านมามีตั๋ว B/E ที่ผิดนัดชำระ จำนวน 3 บริษัท แต่บริษัทที่ยังมีปัญหาอยู่คือ IFEC ซึ่งในเดือนม.ค. 60 นี้ มียอดที่ครบกำหนด 500 ล้านบาท ซึ่ง default ไปแล้ว 1 รุ่นมูลค่า 200 ล้านบาท เมื่อ 5 ม.ค.60 และจะครบกำหนด 19 ม.ค.และ 25 ม.ค.อีก 300 ล้านบาท

นอกจากนี้ภายในปีนี้ยังมียอด B/E จะครบกำหนดอีก 1,920 ล้านบาท แบ่งเป็นครบกำหนดในก.พ. จำนวน 920 ล้านบาท และมี.ค. จำนวน 300 ล้านบาท เดือนเม.ย. จำนวน 300 ล้านบาท และมิ.ย. จำนวน 100 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 3,000 ล้านบาท

"IFEC คงเป็นหนังยาว เพราะเป็นเรื่องขัดแย้งของผู้บริหาร ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งตลาดทุนก็ช่วยประสาน ติดต่อบริษัทเพื่อชี้แจงตั้งแต่ปลายปี 59 พอมาวันที่ 5 ม.ค.60 ก็ default อีกรุ่น แต่ก็มียืดอายุกับบลจ.ที่ลงทุน มาจ่ายวันที่ 11 ม.ค.60 สุดท้ายก็ไม่จ่าย และก็ยังมีเหลือยอด B/E อีก 1,920 ล้านบาท และเป็นหุ้นกู้ระยะยาวอีก 3,000 ล้านบาท"นายธาดา กล่าว

ส่วนของบมจ.เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป (NMG) default 1 รุ่น 50 ล้านบาท เมื่อ 1 ธ.ค.59 แต่ชำระคืนครบถ้วนแล้ว และมียอดจะครบกำหนด 300 ล้านบาท ในปี 60 ซึ่งคงไม่มีปัญหาไม่น่าจะผิดนัดชำระแล้ว สถานะ NMG ออกจากการผิดนัดชำระแล้ว คงผิดแค่ 50 ล้านบาท, ส่วนของ บมจ.เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ฯ (KC) default 2 รุ่น รวม 170 ล้านบาท เมื่อ 15 ธ.ค. 59 โดยได้จดจำนองสินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่ากว่า 360 ล้านบาท และเหลือยอดจะครบกำหนด 180 ล้านบาท ในปี 60 ซึ่งทางบลจ.ผู้ลงทุนก็มั่นใจว่าทรัพย์สินที่เอามาจดจำนองจะ cover กลับหนี้สิน หากจะต้องขายสินทรัพย์

สำหรับแนวโน้มภาพการ default ตั๋ว B/E ในปีนี้ยังไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งต้องจับตาดูตลอดเวลา แต่ที่เห็นคือพฤติกรรมผู้ออกที่คิดว่าจะ roll over ได้ตลอดเวลานั้นสถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะนักลงทุนจะหันไปลงทุนในตราสารที่ไม่เสี่ยงและระยะยาวขึ้น จึงอยากเตือนให้ผู้ออกตราสารหนี้ดังกล่าวเตรียมสภาพคล่องเพียงพอไว้ก่อนหากนักลงทุนจะไม่ roll over


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ