(เพิ่มเติม) KTB วางเป้าดันกำไรขึ้น TOP 3 ในปี 61 จากปีนี้คาดกำไรโตรับสินเชื่อรวมขยายกว่า 5% คุม NPL ทรงตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 19, 2017 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศเป้าหมายขึ้นผลักดันกำไรขึ้นสู่อันดับ 3 ของกลุ่มธนาคารภายในปี 61 จากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 ทั้งนี้ กำหนดแผนงานในปี 60 ที่จะมีกำไรดีกว่าปีก่อน ตามแนวโน้มสินเชื่อที่จะขยายตัวให้มากกว่า 5% สูงกว่าภาพรวมสินเชื่อกลุ่มธนาคารที่คาดว่าจะเติบโตราว 4-5% เน้นกลุ่มสินเชื่อโครงการของภาครัฐ พร้อมควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่าแนวโน้มครึ่งปีแรก NPL อาจจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นอัตราที่ชะลอลง ซึ่งธนาคารจะเน้นการบริหารหนี้และขายสินทรัพย์รอการขาย (NPA)

"ธนาคารยังคงตั้งเป้าขึ้นเป็นธนาคารที่มีกำไรเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ภายในปี 61 จากปัจจุบันธนาคารกรุงไทยอยู่ไนอันดับ 4 ของกลุ่มในแง่ของกำไร"นายผยง กล่าว

นายผยง กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 60 เติบโตมากกว่า 5% จากปีก่อนที่ติดลบ โดยจะเน้นรุกสินเชื่อของภาครัฐมากขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาสินเชื่อภาครัฐหดตัว แต่ในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐราว 4-5 แสนล้านบาท ดังนั้น ธนาคารจึงคาดหวังการปล่อยสินเชื่อในส่วนนี้ 20-30% ซึ่งธนาคารคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อภาครัฐในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 12% จาก 10% เมื่อปีก่อน

ส่วนสินเชื่อประเภทอื่น ๆ นั้น ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยเติบโต 5% สินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโต 5% และสินเชื่อรายใหญ่เติบโต 4% จากปีก่อนสินเชื่อของทุกสายงานหดตัวลงทั้งหมด ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ปีนี้ธนาคารมองว่าเศรษฐกิจมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ดีจากการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 4%

นายผยง กล่าวว่า จากแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารที่จะกลับมาเป็นบวกในปีนี้จะส่งผลให้กำไรของธนาคารจะดีกว่าปี 59 แม้ว่าการเน้นปล่อยสินเชื่อภาครัฐมากขึ้นอาจทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ลดลง แต่ในด้านรายได้ค่าธรรมเนียมยังตั้งเป้าเติบโตมากกว่า 5% โดยจะเน้นการเพิ่มบริการด้านต่างๆ ให้กับลูกค้า ซึ่งผลอีกส่วนหนึ่งจะช่วยทดแทนผลกระทบที่เกิดจากการเปิดให้บริการพร้อมเพย์ที่มีต่อภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคารของไทยที่จะสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมไปราว 3-4 หมื่นล้านบาท

ส่วน NPL ในปี 60 ธนาคารจะพยายามควบคุมให้ใกล้เคียงหรือไม่เกินจากปีก่อน โดยมองว่า NPL ในช่วงไตรมาส 1/60 ถึงต้นไตรมาส 2/60 จะยังมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยกลุ่มลูกค้าที่ยังมีแนวโน้มที่ทำให้ NPL สูงขึ้นเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่ปัจจุบันไม่มีหนี้เสียแล้ว

ขณะที่การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้ส่งสัยจะสูญในปี 60 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน โดยเฉพาะการตั้งสำรองฯปกติที่ธนาคารตั้งเฉลี่ยเดือนละ 1 พันล้านบาท ส่วนการตั้งสำรองฯพิเศษนั้นจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับสถาณการณ์ในขณะนั้น อีกทั้งธนาคารจะพยายามเพิ่มให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ให้เพิ่มขึ้น แต่อาจจะยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ โดยปัจจุบัน coverage ratio ของธนาคารยังอยู่ไนระดับต่ำกว่าระบบที่เฉลี่ยอยู่ที่ 130-140%

"NPL เราก็พยายามที่จะบริหารจัดการให้ได้ดีที่สุด แต่ยอมรับว่าในช่วงไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอยู่ แต่เป็นการเพิ่มแบบชะลอตัว ซึ่งในปีนี้ก็พยายามรักษาให้ใกล้เคียงหรือไม่เกินปีก่อน ส่วนวิธีการอื่นๆในการลด NPL เราก็อาจจะมีขายหนี้ออกไปบ้าง และขาย NPA ออกไป ส่วนการตั้งสำรองฯก็ยังคงตั้งใกล้เคียงกับปีก่อน โดยเฉพาะสำรองปกติ แต่เชื่อว่าไม่กระทบกำไรแบงก์ ส่วนสำรองพิเศษก็ดูไปตามสถานการณ์"นายผยง กล่าว

นายผยง กล่าวอีกว่า ธนาคารยังตั้งงบลงทุนด้าน IT ในปีนี้มากกว่า 5 พันล้านบาท เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีการลงทุนเทคโนโลยีอย่างจริงจังมากนัก และในปีที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ National e-Payment ทำให้ธนาคารต้องมีการดำเนินงานที่สอดคล้องไปกับนโยบายภาครัฐ ซึ่งการลงทุนด้านเทคโนโลยีจะช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนต่างๆ ลงได้ในนะยะยาว และในปี 60 ธนาคารจะมีการปิดสาขาราว 100 สาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั้ง 1,200 สาขา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ