โบรกฯ เชียร์"ซื้อ"KKP กำไรปี 59 โตพุ่งหลังตั้งสำรองฯต่ำกว่าคาด พร้อมปรับประมาณการปี 60-61 จากแนวโน้มดี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 23, 2017 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้นธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) หลังรายงานกำไรไตรมาส 4/59 สูงถึง 1.4 พันล้านบาทส่งผลให้ทั้งปี 59 กำไรโตถึง 67% จากปี 58 ถือว่าดีกว่าที่คาด เพราะตั้งสำรองค่าเผื่อฯน้อยกว่าที่ประมาณการ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โบรกเกอร์ปรับเพิ่มประมาณการปี 60-61 และบางรายมองว่าราคายังมี upside เพราะยังไม่ได้รวมดอกเบี้ยรับจากเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง

ขณะที่ทิศทางธุรกิจในปีนี้จุดเด่นคือคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและสินเชื่อมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดี รวมทั้งธุรกิจตลาดทุนยังแข็งแกร่ง นอกจากนั้น KKP ยังเป็นหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดในกลุ่มธนาคาร เนื่องจากมีฐานเงินกองทุนในระดับสูง

ราคาหุ้น KKP ล่าสุดอยู่ที่ 57.75 บาท เพิ่มขึ้น 3.12% ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้น 0.36%

          โบรกเกอร์               คำแนะนำ      ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          บล.ดีบีเอสฯ                ซื้อ             70
          บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์        ซื้อ             65
          บล.ทิสโก้                  ถือ             59
          บล.บัวหลวง                ซื้อ             73

นางธนินี สถิรเรืองชัย นักวิเคราะห์บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า KKP รายงานกำไรไตรมาส 4/59 เท่ากับ 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 59 มีกำไรสุทธิราว 5.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% จากปี 58 และถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญน้อยกว่าที่ฝ่ายวิจัยประมาณการไว้ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงถึง 56.6% สูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 47.4% ของรายได้ เพราะมีขาดทุนจากการขายสินทรัพย์รอการขายสุทธิ 173 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายพนักงานสูงขึ้น

สำหรับกำไรก่อนการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เติบโตได้ค่อนข้างดี โดยมีการเติบโตถึง 25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก NIM เพิ่มขึ้น จากต้นทุนการเงินลดลง

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาตัวเลขสินเชื่อพบว่าหดตัว 1% จากปีก่อนหน้า โดยสินเชื่อหลัก คือ สินเชื่อรายย่อยเติบโต 2.5% จากปีก่อน ซึ่งสินเชื่อรายย่อยคิดเป็น 70% ของสินเชื่อรวม แต่สินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสินเชื่อรายย่อยยังคงลดลงราว 2.7% จากปีก่อน เพราะยอดขายรถยนต์ในประเทศยังซบเซาในปีที่แล้ว

ขณะที่สินเชื่อ SME หดตัว 10.6% จากปีก่อน โดยสินเชื่อ SME คิดเป็น 23% ของสินเชื่อรวม และสินเชื่อรายใหญ่ ติดลบ 21.6% โดยสินเชื่อรายใหญ่คิดเป็น 4% ของสินเชื่อรวม เพราะมีการคืนหนี้มาก

"ตัวเลข NPL Ratio ลดลงและ Coverage Ratio เพิ่มขึ้น ณ สิ้น ธ.ค.59 ธนาคารมี NPL Ratio 5.6% ลดลงจาก 5.8% ในสิ้นปี 58 ด้าน Coverage Ratio เพิ่มเป็น 110.1% ในปี 59 จาก 105.4% ในสิ้นปี 58 ส่วนภาพของเงินกองทุนค่อนข้างแข็งแรง"นางธนินี กล่าว

นอกจากนั้น ยังมองว่า KKP มีจุดเด่นคือ ธุรกิจตลาดทุนที่แข็งแกร่ง ขณะที่ธุรกิจธนาคารมีการขยายตัวดีต่อเนื่อง และจ่ายปันผลสูง คาดการณ์ Dividend Yield ปี 59-60 ไว้ที่ 6.2% และ 7.1% ตามลำดับ

ด้าน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ปรับประมาณการกำไรปี 60 ของ KKP เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากฐานรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าคาด และอัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อที่ดีขึ้นบนฐานสินเชื่อที่น่าจะขยายตัวได้

อย่างไรก็ตาม ประมาณการของฝ่ายวิจัยในปี 60 ไม่ได้รวมดอกเบี้ยรับจากเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง ดังนั้น หาก KKP ได้รับชำระเงินจากลูกค้าจะเป็น upside ต่อประมาณการ

ทั้งนี้ ยังคงคำแนะนำซื้อหุ้น KKP ด้วยราคาเป้าหมายตามเดิม 65 บาท แม้ทิศทางกำไรปี 60 อาจไม่น่าตื่นเต้น แต่ก็มีเสถียรภาพมากขึ้นจากคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงอาจมี upside จากประมาณการทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินลงทุนในสิทธิเรียกร้อง และค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าคาด เพราะ บล. ภัทร มีดีล IB ขนาดใหญ่หลายดีล นอกจากนี้ ด้วยฐานเงินกองทุนที่สูง จะช่วยให้ KKP จ่ายเงินปันผลดีที่สุดในกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

ส่วนบทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า ได้ปรับราคาเป้าหมายของหุ้น KKP ขึ้น 3% มาอยู่ที่ 73 บาท เนื่องจากประเมินอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดในกลุ่มราว 6.8% ในปี 60 ภายหลังธนาคารรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/59 ออกมาสูงกว่าคาดราว 26% และสูงกว่าตลาดคาด 38% จากการตั้งสำรอง LLP ที่ต่ำกว่าคาด จากการบริหารสินทรัพย์ได้ค่อนข้างดีในช่วงครึ่งปีหลังปี 59

ฝ่ายวิจัยมีการปรับการตั้งสำรอง LLP ลง 13% ในปี 60 และปี 61 ที่ 11% ทำให้ปรับประมาณการกำไรขึ้น 5% มาที่ 5.7 พันล้านบาท ในปี 60 และเพิ่มขึ้น 4% ในปี 61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ