ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ THANI วงเงินไม่เกิน 2.5 พันลบ. ที่ระดับ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 24, 2017 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาทของ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันยังยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้เดิมและใช้ในการขยายสินเชื่อ

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทอันเนื่องมาจากสถานะทางการตลาดและผลประกอบการทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีเสถียรภาพแม้ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วและรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ รวมถึงการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานและระบบบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งอันดับเครดิตของบริษัทได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจากสถานะอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเองเนื่องจากปัจจุบันบริษัทจัดเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารธนชาต อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากประเด็นกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันที่รุนแรงและคุณภาพสินเชื่อของบริษัทที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรแม้ว่าคุณภาพสินเชื่อจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าผู้บริหารที่มากประสบการณ์ ตลอดจนประสิทธิภาพการปฏิบัติงานที่ปรับตัวดีขึ้น และการสนับสนุนจากธนาคารแม่จะช่วยให้บริษัทสามารถขยายสินเชื่อในตลาดเป้าหมายได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้และรักษาระดับในการทำกำไรที่ดี อีกทั้งการสนับสนุนจากธนาคารแม่ยังคาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในด้านเงินทุน

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทยังมีจำกัดในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าหลังจากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตครั้งล่าสุด ในทางกลับกัน อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากสถานะทางการตลาดของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง หรือสถานะความเสี่ยงและโครงสร้างเงินทุนของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับการสนับสนุนจากธนาคารแม่ที่มีต่อบริษัท หรือการเปลี่ยนแปลงสถานะของบริษัทในการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อธนาคารแม่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทในอนาคต

THANI มีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาตมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารนครหลวงไทยกับธนาคารธนชาต พร้อมทั้งมีการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ปัจจุบันธนาคารธนชาตจัดให้บริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่อยู่ในกลุ่มควบรวมแบบ Non-Solo Consolidation ตามกฎเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ว่าธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจสินเชื่อรถยนต์จะทับซ้อนกับธุรกิจของธนาคารธนชาต ทว่าบริษัทและธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์และตลาดเป้าหมายที่ต่างกัน ธนาคารธนชาตมีความตั้งใจที่จะให้บริษัทเน้นกลุ่มตลาดที่ยังเข้าไม่ถึง

นอกจากนี้ ธนาคารธนชาตยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทในการพัฒนากระบวนการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้วย โดยมีการนำนโยบายการบริหารความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ มาใช้ในบริษัทเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของธนาคารธนชาต ล่าสุดบริษัทได้เปลี่ยนระบบสารสนเทศและระบบบัญชีสำหรับธุรกิจเช่าซื้อมาใช้ระบบเดียวกับของธนาคารธนชาต ทั้งนี้ บริษัทยังได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแม่และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ผ่านการกำกับดูแลจากธนาคารแม่ด้วยเช่นกัน

บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินมากขึ้นหลังจากมีสถานะเป็นบริษัทลูกของธนาคารธนชาต ซึ่งทำให้บริษัทได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินเพิ่มมากขึ้นจนช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนความพยายามในการขยายธุรกิจของบริษัท บริษัทสามารถยกระดับสถานะทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่องโดยสะท้อนจากการเติบโตที่สม่ำเสมอของสินเชื่อ

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2550-2556 สินเชื่อของบริษัทเติบโตในอัตรามากกว่า 10% มาโดยตลอด โดยสินเชื่อรวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 6 ปีดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 45% บริษัทมีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2,854 ล้านบาทในปี 2550 และเติบโตอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 27,421 ล้านบาทในปี 2556 อย่างไรก็ดี ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ปีก่อนทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อลดลง ทั้งนี้ สินเชื่อรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 28,224 ล้านบาทในปี 2557 อยู่ที่ 29,921 ล้านบาทในปี 2558 และอยู่ที่ 32,946 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 หรือเพิ่มขึ้น 10.1% จากสิ้นปี 2558

บริษัทเน้นการให้บริการสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์มาตั้งแต่ปี 2549 โดยสินเชื่อในกลุ่มนี้คิดเป็น 65% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คงค้างของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 เนื่องจากสินเชื่อสำหรับรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์จัดเป็นสินเชื่อที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ บริษัทจึงได้พยายามชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การเรียกเก็บเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น และการให้ชำระเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นต้น การเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปีที่ผ่านมาและผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในการปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของคณะผู้บริหารของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อรถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปีนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2555 โดยลดลงจาก 4.9% ในปี 2551 เป็น 2.3% ในปี 2555 อย่างไรก็ดี อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในปี 2556 และอยู่ในระดับสูงสุดที่ระดับ 5.2% ในปี 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ในปี 2558 เนื่องจากการตัดหนี้สูญ รวมทั้งจากการขายหนี้ด้อยคุณภาพ การปรับโครงสร้างหนี้ และกระบวนการติดตามหนี้ที่เข้มงวด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 4.5% อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนในปัจจุบัน ทริสเรทติ้งยังคงมีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อของบริษัท

ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2555 และปี 2556 อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจในปี 2557 ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากถึง 432 ล้านบาท โดยในปีดังกล่าว บริษัทมีกำไรสุทธิ 704 ล้านบาท ลดลง 4% จากปี 2556 ในปี 2558 บริษัทยังมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่ 749 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.4% จากปี 2557 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 นั้น บริษัทมีกำไรสุทธิ 644 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 579 ล้านบาท สำหรับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยนั้นก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.55% ในปี 2557 เป็น 2.61% ในปี 2558 อัตราส่วนดังกล่าวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 2.80% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว)

การเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของธนาคารธนชาต ทำให้ทริสเรทติ้งลดความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินลงไป การปรับโครงสร้างเงินทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นเป็น 17.2% ณ สิ้นปี 2554 จาก 12.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทใช้ความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีมากขึ้นในการขยายสินเชื่อในปี 2555 และปี 2556 ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 13.1% ณ สิ้นปี 2555 ถึงแม้บริษัทจะเสริมฐานทุนในปี 2556 ด้วยการจ่ายหุ้นปันผล กระนั้นอัตราส่วนดังกล่าวก็ยังลดลงเป็น 11.8% ณ สิ้นปี 2556 อันเนื่องมาจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว

ในปี 2557 บริษัทยังคงจ่ายหุ้นปันผลอักครั้งแต่สินเชื่อเติบโตน้อยลง ส่งผลให้อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.9% ในปี 2557 และ 15.5% ในปี 2558 เมื่อพิจารณาถึงอัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 ที่ระดับ 14.5% รวมถึงระดับความสามารถในการทำกำไรและนโยบายการจ่ายปันผลในอนาคตแล้วคาดว่าอัตราดังกล่าวน่าจะเพียงพอสำหรับการเติบโตของสินเชื่อรวมในระดับประมาณ 10% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่การขยายธุรกิจที่นอกเหนือจากที่คาดการณ์ไว้นั้นบริษัทอาจต้องมีการปรับโครงสร้างเงินทุนใหม่เพื่อที่จะดำรงฐานทุนให้มีเพียงพอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ