KTBST คาด SET สัปดาห์นี้บวก กรอบ 1,580-1,600 จุด รับปัจจัยหนุนต่างประเทศ-เก็งงบ Q4/59

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 14, 2017 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล. เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST ประเมินตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ (14-17 ก.พ.) ว่าตลาดจะตอบรับในทางบวกต่อการหารือระหว่างผู้นาสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น และแนวโน้มราคาน้ำมัน ที่ยังคงแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันการเข้ามาเก็งกำไรในงบการเงินไตรมาสที่ 4 ที่จะมีเข้ามาในตลาดมากขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านี้ จะทำให้ตลาดหุ้นไทยคึกคักขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เชื่อว่าด้วยมุมมองเศรษฐกิจไทยที่ยังมีการขยายตัวดีจากแรงกระตุ้นของภาครัฐฯและการค้าระหว่างประเทศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ จะหนุนให้ดัชนีฯ สัปดาห์นี้ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ตัวแปรที่มีผลต่อตลาดสำคัญๆ จะเป็นนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทางออกของหุ้นพลังงานลมหลังมีประเด็นในเรื่องส.ป.ก. และการเมืองการเลือกตั้งของยุโรป

ดังนั้นจึงคาดว่าดัชนีฯสัปดาห์นี้ จะผันผวนในกรอบ 1,580 - 1,600 จุด โดยมีตัวแปรอยู่ที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) และการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ ขณะที่สัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.พ.) คาดว่าตลาดมีแนวโน้มขึ้นต่อจากการเข้ามาเก็งกำไรในงบไตรมาส 4 และปัจจัยบวกเฉพาะตลาดหุ้นไทย แต่ความแรงของตลาดทั้งนี้จะขึ้นปัจจัยต่างประเทศด้วย อาทิ นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ราคาน้ำมันตัวแปรสาคัญๆ ช่วง 20-24 ก.พ. ประกอบด้วยตัวเลข GDP ของไทย ในวันที่ 20 ก.พ. และรายงานตัวเลขขาย-ผลิต รถยนต์ของไทย

สำหรับกลยุทธ์ลงทุน แม้จะมองว่าตลาดหุ้นมีโอกาสเดินหน้าต่อแต่หลายตัวแปรส่วนใหญ่เป็นตัวแปรในต่างประเทศ ทั้งตัวแปรการเมือง-เศรษฐกิจ-ดอกเบี้ย ที่ไม่ได้ให้ผลต่อตลาดในหุ้นในทางเดียวกัน การลงทุนในช่วงสองสัปดาห์ข้างหน้า จึงขึ้นกับน้ำหนักของตัวแปรเหล่านี้ว่าจะไปในทางใด อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยบวกในเรื่องของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทในตลาด จะให้ความสนใจกับหุ้นที่เป็น Domestic Play มากกว่าอาทิ กลุ่มธนาคาร ที่อยู่อาศัย หรือหุ้นที่ผลประกอบการออกมาดี เนื่องจากไตรมาสนี้ มีการทำ Preview ค่อนข้างน้อย จึงทำให้การรายงานกำไรว่าดีหรือไม่ดีของหุ้นส่วนใหญ่ จะมีผลต่อราคาหุ้นในวันที่นาส่งงบการเงินเลย

ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญ ๆ ดังกล่าวในมุมมองของ KTBST ได้แก่ 1.) นโยบายเศรษฐกิจและการเดินสายของประธานาธิบดีสหรัฐ จะยังคงมีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นอยู่ต่อไป มีความชัดเจนแล้วจากการพบกันของผู้นำสหรัฐฯและญี่ปุ่นตกลงที่จะสนับสนุนให้มีการจัดการเจรจาหารือเกี่ยวกับกรอบการค้าทวิภาคี หลังจากที่สหรัฐได้ถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งหมายความว่า จากนี้ไป สหรัฐฯจะเข้าเจรจาหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาทางการค้ากับประเทศอื่นๆ แทนที่จะทำในรูปแบบเดิมที่ทำเป็นกลุ่ม

การระงับออก VISA ให้แก่พลเมือง 7 ประเทศ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะประธานาธิบดี ให้ข่าวว่าจะออกมาตรการในทำนองนี้อีกครั้ง การเข้าพบผู้นาประเทศต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ สัปดาห์นี้ น่าจะเป็นแคนาดาและอิสราเอล จะทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นบวกต่อตลาดมากกว่าที่ปล่อยให้คลุมเครือ

โดยนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังถูกจับตามอง คือนโยบายลดภาษี ที่ให้ข่าวว่าจะมีการประกาศใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งประเมินว่าหากมีการประกาศใช้จริง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเดินหน้าต่อโดยไม่มีปัญหาเงินเฟ้อหรือหนี้สินของสหรัฐฯเพิ่มมากจนมีความเสี่ยงตลาดหุ้นน่าจะตอบรับในทางบวกหุ้นไทย ที่กำลังถูกจับตามองว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ หรือไม่ จะเป็นหุ้นที่มีการค้ากับสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง จะเป็นรายได้ ปี 2558 ของหุ้นที่มีการค้าตรงกับสหรัฐฯ

2) ตั้งแต่สัปดาห์นี้จะเริ่มมีการส่งงบไตรมาสที่ 4 เข้ามามากขึ้นไปจนถึงวันสุดท้ายของการส่งงบ คือ 28 ก.พ.หุ้นที่จ่ายปันผลในอัตราสูงจากแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อาจขึ้นช้ากว่าที่เคยคาด นักลงทุนน่าจะเข้ามาเก็บหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง (มากกว่า 6%) โดยยังประเมินกำไรไตรมาสที่ 4/59 ไว้ที่ 1.6-1.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 9-13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหรืออาจดีกว่าเล็กน้อยเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้กำไรของบริษัทในตลาดดีขึ้นมาจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมูลค่าส่งออกของไทยที่สูงขึ้นและมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจของรัฐบาลที่เข้ามาในช่วง 1-2 เดือนสุดท้าย หุ้นที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 4 จะออกมาดีจะเป็นธุรกิจกลุ่มน้ำมัน (ผู้ผลิต +โรงกลั่นน้ำมัน) ธุรกิจส่งออก (อิเล็คทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อาหารแช่แข็ง-เกษตรแปรรูป ฯลฯ) และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น

3) จากรายงานฉบับล่าสุดของ IEA ที่ระบุ การลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) นั้น ถึง 90% ของที่ตกลงกันไว้ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วันและปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้นราคาน้ำมันดิบ WTI คาดจะยังยืนเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ได้และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นหา 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กรอบการเคลื่อนไหวช่วง 1 เดือนข้างหน้า ประมาณไว้ที่ 51-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบจะเป็นค่าเงินดอลาร์ นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ การผลิต น้ำมันของสหรัฐฯ และปริมาณน้ำมันในสต็อกของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (หากปรับลดลงมากจะเป็นบวกต่อราคาน้ำมัน)

หุ้นที่อิงรายได้กับราคาน้ำมัน (ผู้ผลิต-โรงกลั่นน้ำมัน-ปิโตรเคมี) จะกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น หากราคาน้ำมันดิบ (WTI) ปรับตัวขึ้นเหนือ 55 เหรียญ เชื่อว่าราคาหุ้นเหล่านี้ต่างขึ้น มารับราคาน้ำมันที่ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ไปแล้วราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังมีแนวโน้มดีจะเป็นกลุ่มโลหะ อาทิ เหล็ก ทองแดง สังกะสี จากความต้องการใช้วัตถุดิบของประเทศสำคัญๆอย่างเช่นจีน และสหรัฐฯที่ถูกคาดว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะหนุนให้ความต้องการใช้สินค้าเหล่านี้มากขึ้นในอนาคต

4) ด้วยความเสี่ยงในเรื่องของนโยบายประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ การเมืองยุโรป และแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ และราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากทำให้นักลงทุนต่างประเทศชะลอการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพราะตลาดหุ้นจะมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างๆ ค่อนข้างมากแต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ได้แรงกระตุ้นจากภาครัฐฯ และส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตร ทำให้เงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรถึง 4.4 หมื่นล้านบาท ในเดือน ก.พ. (1-10 ก.พ.) แต่กลับขายสุทธิ 1.2 พันล้านบาทในตลาดหุ้น แม้แต่กองทุนในประเทศ ก็มีตัวเลขซื้อสุทธิเพียง 6 พันล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันบ่งชี้ว่านักลงทุนระดับสถาบันยังมองว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยง (หรือไม่ก็หุ้นแพง) จำกัดการสูงขึ้นของดัชนีฯตลาดหุ้น ตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ประเมินว่า 2 สัปดาห์ข้างหน้า นักลงทุนต่างประเทศ น่าจะยังซื้อหรือขายหุ้นในปริมาณที่น้อย เพราะมีหลายปัจจัยยังไม่เคลียร์ และตลาดยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆเข้ามา ทำให้แรงซื้อส่วนใหญ่จะเข้ามาแบบ selective หรือสลับตัวเล่นมากกว่าที่จะเพิ่มเม็ดเงินเข้ามาในตลาด

หุ้นที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน ได้แก่หุ้นได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ได้แก่ SPRC , IVL , PAP หุ้นรับผลบวกการลงทุน-ใช้จ่าย ภาครัฐ หรือ Domestic Play ได้แก่ KTB , STEC , JTS , SYMC หุ้นที่มีประเด็นบวกอื่นๆ หรือราคาลงมามาก : KCE , TSE , BCH , TWP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ