THAI ชี้แจงละเอียดหลังพนักงานยื่นหนังสือตรวจสอบปัญหาทุจริตภายใน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 15, 2017 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย (THAI) ชี้แจงข้อกล่าวหาที่ถูกกลุ่มพนักงานยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตรวจสอบปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในบริษัท เมื่อวันที่ 12 ก.พ.60 แจกแจงเป็นรายประเด็น โดยระบุว่าบริษัทพิจารณาเห็นว่าประเด็นที่กล่าวอ้างมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายโดยตรงกับบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การบินไทยได้ให้ข้อเท็จจริงเป็นประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.การบินไทยไม่เคยลดอายุการใช้งานจริงของเครื่องบินในฝูงบินของบริษัทฯ บริษัทขอชี้แจงว่าบริษัทไม่เคยลดอายุการใช้งานจริงของเครื่องบินแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทได้ใช้งานเครื่องบินอย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงความปลอดภัยและความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นสำคัญ โดยจะปลดประจำการตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานที่ถูกต้องทางบัญชี รวมทั้งข้อบังคับของหน่วยงานความปลอดภัยระหว่างประเทศเท่านั้น

2.การบินไทยมิได้ดำเนินการขายหุ้น ระดมทุน กู้เงิน ตามแผนฟื้นฟูฯ ปี 52-54 เพื่อนำเงินไปซื้อเครื่องบินใหม่ บริษัทขอชี้แจงว่าบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์การระดมทุนต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนและเมื่อได้เงินจากการระดมทุนมาดำเนินการ จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

3.บริษัทมิได้ปรับปรุงเครื่องบินแอร์บัส เอ 340 ที่มีแผนปลดระวางไว้ล่วงหน้าแล้ว บริษัทขอให้ข้อเท็จจริงว่ากรรมการและผู้บริหารไม่เคยอนุมัติหรือดำเนินการปรับปรุงเก้าอี้ที่นั่งในเครื่องบินแอร์บัส เอ 340 ที่ได้มีแผนปลดประจำการในปี 55 แต่อย่างใด

4.การจัดตั้งบริษัทลูกหลานบริษัท โดยเฉพาะบริษัท ไทยสมายล์ นกแอร์ และ Wingspan เป็นการดำเนินการตามแผนธุรกิจที่จะนำบริษัทให้แข่งขันได้ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้กับใครนั้น บริษัทขอชี้แจงว่า บริษัทได้จัดตั้งสายการบินนกแอร์เป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากในช่วงนั้นรัฐบาลมีนโยบายเปิดเสรีการบินภายในประเทศ และการเปิดเสรีการบินของประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีแนวโน้มในการเปิดกว้างมากขึ้นส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมีความรุนแรงมากขึ้น และไม่จำกัดอยู่เฉพาะภายในประเทศ แต่ขยายสู่ธุรกิจการบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งแนวโน้มของผู้โดยสารที่หันมานิยมการเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องและช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม บริษัทฯ จึงได้จัดตั้งสายการบินนกแอร์ เพื่อเป็น Fighting Brand สำหรับธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ และระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และหากไม่ทำบริษัทฯ จะหมดโอกาสในการแข่งขันในตลาดการบินต้นทุนต่ำ

ส่วนสายการบินไทยสมายล์นั้น เริ่มจัดตั้งขึ้นในปี 56 เพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายให้กับการบินไทย ด้วยเครื่องบินลำตัวแคบและต้นทุนต่ำ ที่เอื้อให้ลูกค้าประจำของการบินไทยอยู่กับการบินไทยได้ในราคาที่ถูกลง ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ โดยเริ่มจากการเป็นหน่วยธุรกิจก่อน หลังจากนั้น จึงได้แยกออกมาตั้งเป็นบริษัท เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน และดำเนินการเป็นสายการบินแบบบริการเต็มรูปแบบ (Full Service) เช่นเดียวกับการบินไทย ราคาไม่แพงและสามารถบริหารต้นทุนได้ง่าย โดยใช้ฐานปฏิบัติการบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อการเชื่อมโยงสนับสนุนการบินไทย

สำหรับบริษัท Wingspan ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี 53 เพื่อแก้ไขปัญหาด้านบุคลากรระดับปฏิบัติการที่ไม่มีทักษะเฉพาะด้านเป็นส่วนใหญ่ และมีอัตราการ เข้า-ออก สูง ทั้งนี้ การปฏิบัติในแนวทางนี้เป็นเช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจหลายแห่งดำเนินการมาก่อนการบินไทย

5.บริษัทให้ความสำคัญในการปรับปรุงระเบียบจัดซื้อจัดจ้างและตรวจสอบการทุจริตตลอดมาแม้ไม่มีกรณีโรลส์-รอยซ์บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญ เรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ อย่างมากตลอดมา เห็นได้จากการปรับปรุงระเบียบพัสดุ มาเป็นระยะๆ โดยล่าสุด ในปี 55 บริษัทได้ประกาศใช้ระเบียบพัสดุที่ปรับปรุงใหม่ โดยมีสาระที่สำคัญ คือบริษัทจะไม่มีการจัดซื้อจัดหาผ่านคนกลาง รวมทั้งกำหนดให้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน เพื่อให้มีการถ่วงดุลอำนาจกัน

ทั้งนี้ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีความยุติธรรมและโปร่งใส รวมทั้ง มีการจัดเก็บเอกสารครบถ้วน ตรวจสอบย้อนหลังได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ จะได้ดำเนินการจัดทำสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) สำหรับการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงกับคู่ค้า เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการให้สินบนกับการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย

นอกจากนั้น ในการจัดทำแผนปฏิรูปบริษัทตั้งแต่ปี 57 บริษัทฯ ได้บรรจุเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดหาไว้ในแผนปฏิรูปฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทได้รับการตรวจสอบจากภาครัฐเป็นระยะโดยล่าสุด คณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่แต่งตั้งโดย คสช. ได้มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมี พล.อ.ไชยพร รัตแพทย์ เป็นประธานฯ เข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทย เมื่อกลางปี 2559 และไม่ปรากฏข้อท้วงติงแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อกลางปี 59 บริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีกรรมการบริษัทฯ 4 ท่าน ร่วมเป็นกรรมการ โดยมีพล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธานคณะกรรมการฯ และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

6. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทฯ ตลอดมา และไม่เคยพบการแต่งบัญชีอย่างที่กล่าวอ้าง บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ได้มีมติแต่งตั้งให้ สตง.ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เป็นผู้สอบบัญชีและรับรองบัญชีของบริษัทฯ มาโดยตลอด ซึ่ง สตง.ได้ปฏิบัติงานตรวจสอบมาตรฐานการสอบบัญชี ไม่เคยพบการแต่งบัญชี หรือปิดบังการลงบัญชีสภาพเครื่องบินที่ผิดปกติแต่อย่างใด

7.กรณีการปลดระวางเครื่องบินและการขายเครื่องบินเป็นไปตามมาตรฐานและถือผลประโยชน์ของบริษัทฯเป็นที่ตั้งเสมอมา บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า บริษัทฯ มีนโยบายและแนวทางหลักๆ ในการปลดระวางเครื่องบิน ดังนี้

1).เครื่องบินที่มีอายุใช้งานนาน ซึ่งจำเป็นต้องปลดระวาง โดยนำเครื่องบินรุ่นใหม่ที่ทันสมัยมาทดแทน แม้จะมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์มาอย่างสม่ำเสมอแต่ก็ยังได้รับการวิจารณ์จากผู้โดยสารว่ายังไม่เทียบเคียงคู่แข่งได้

2).เครื่องบินที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มค่าต่อการนำมาใช้ เช่น เครื่องบินแอร์บัส เอ 340 ซึ่งในขณะที่ซื้อมาราคาน้ำมันค่อนข้างถูก ยังพอใช้แข่งขันทางธุรกิจบินข้ามทวีปได้ ต่อมาเมื่อราคาน้ำมันแพงมาก สายการบินคู่แข่งที่เลือกใช้เครื่องบินแบบนี้ก็ประสบปัญหาขาดทุนเช่นเดียวกับการบินไทย และมีการปลดระวางเครื่องบินรุ่นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การบินไทยได้พยายามนำเครื่องบินดังกล่าวไปบินในเส้นทางอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถให้มีกำไรได้ จึงมีแผนทยอยการปลดระวางเครื่องบินเป็นระยะๆ และประกาศขาย แต่เนื่องจากเครื่องบินมือสองรุ่นนี้ไม่เป็นที่นิยมในตลาดการซื้อ-ขายเครื่องบิน ทำให้ราคาเครื่องบินที่จะขายมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ทางบริษัทฯ ควรได้รับ จึงปรับปรุงการขายและหาลูกค้าที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น ขายให้กองทัพอากาศ เป็นต้น การบินไทยเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงมีกระบวนการและระเบียบในการขายสินทรัพย์ที่รัดกุมจนบางครั้งเป็นอุปสรรคที่ทำให้การขายเครื่องบินเป็นไปได้โดยรวดเร็ว

8.การปรับปรุงเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 เป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า (Cargo Freighter) โดยเครื่องบินดังกล่าวเป็นเครื่องบิน 4 เครื่องยนต์ที่มีอายุพ้นการบริการโดยปกติแล้วได้นำมาปรับปรุงเพื่อบินขนส่งสินค้า ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำมันไม่แพงพอที่เครื่องบิน 4 เครื่องยนต์จะทำกำไรได้ แต่ในระยะหลังที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เครื่องบินขนส่งสินค้าหันมาใช้เครื่อง / เครื่องยนต์ที่ประหยัดกว่าเครื่องบินรุ่นดังกล่าวมาก บริษัทฯ จึงทำแผนการขาย หรือให้เช่าในราคาที่บริษัทมีกำไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ