ก.ล.ต.ร่วมผลักดันกองทุนรวมอาเซียนเชื่อมโยงตลาดทุนภูมิภาค พร้อมปรับกฎเกณฑ์เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 15, 2017 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปาฐกถาพิเศษ "Keynote speaker : Promotiong Regional Investment Activites in ASEN" ในงานสัมมนา "Thailand Opportunity in Regional Asset Class" ว่า ก.ล.ต.ได้มีความร่วมมือกับ ก.ล.ต.ในประเทศกลุ่มอาเซียนในการเชื่อมโยงตลาดทุน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะการลงทุนผ่านกองทุนรวม ภายใต้โครงการ ASEAN CIS

ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ ,มาเลเซีย และไทย ซึ่งการจัดตั้งกองทุนรวมในลักษณะ CIS สามารถขออนุญาตต่อ ก.ล.ต.ของอีกประเทศในฐานะฝ่ายกำกับดูแล (regulator) ได้โดยไม่ต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อน และสามารถจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนนั้น ๆ ในประเทศที่เข้าร่วมได้ทันที โดยขณะนี้มีกองทุนสามารถเข้าร่วมได้ประมาณ 10 กองทุน

นอกจากนี้ ก.ล.ต.อาเซียนยังจะร่วมกำหนดระเบียบมาตรฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับการเชื่อมโยงตลาดทุนให้มีความคล้ายคลึงกันมากที่สุด เช่น การเปิดเผยข้อมูล ,การออกกองทุน หรือการออกกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เป็นต้น ก็น่าจะส่งผลทำให้บริษัทที่ต้องการออกกองทุน หรือออกหุ้นกู้ในต่างประเทศ ได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่ต้องมีการจัดทำเอกสารหลายชุด รวมถึงไม่ต้องกังวลที่กฎเกณฑ์บางส่วนอาจจะไม่เหมือนกัน

สำหรับประเด็นของ Corporate Governance Scorecard (ASEAN CG Scorecard) โดยมีบริษัท TOP100 ในประเทศอาเซียนเข้ามาแข่งขันว่าบริษัทใดจะได้รับเรตติ้ง CG มากที่สุด ซึ่งใน TOP50 ของอาเซียน พบว่าบริษัทจดทะเบียนของไทยได้รับรางวัลไปถึง 23 บริษัท ถือว่าเป็นมาตรการที่เห็นได้ชัดเจนที่ทาง ก.ล.ต.พยายามผลักดันให้เกิดมาตรฐานเดียวกันของอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่บริษัทที่ต้องการระดมทุนสามารถที่จะเลือกลงทุนในตลาดอาเซียนที่เหมาะสมกับบริษัทนั้นๆ มากที่สุด

ขณะที่บทบาทของโบรกเกอร์จะมีความสำคัญในการให้ข้อมูลแก่นักลงทุนในหุ้นของอาเซียนมากขึ้น ไม่ได้จำกัดการลงทุนแค่หุ้นในตลาดหุ้นไทยที่มีจำนวน 600 ตัว แต่จะลงทุนได้ในหุ้นจำนวนหลายพันตัวในอาเซียน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่หลากหลายมากขึ้น เช่น หากต้องการลงทุนด้านพลังงานงานก็ไม่ได้จำกัดแค่หุ้น PTT แต่จะรวมไปถึงหุ้นพลังงานอื่นๆ ในอาเซียนด้วย

"ก.ล.ต.มองว่า เมื่อเกิดการรวมตัวกันในอาเซียนแล้ว จะเกิดฐานนักลงทุนที่กว้างและมีสินค้าที่หลากหลาย ในการให้บริการ และเกิดประโยชน์ในอาเซียนมากที่สุด"นายรพี กล่าว

ด้านนางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ "Central Bank's Policy to Promote Cross-border Investment in ASEAN Countries" ว่า ปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศมองหาการลงทุนใหม่ๆ มากขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ซึ่งการกระจายลงทุนในอาเซียนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพในระยะยาว เนื่องจากศักยภาพตลาดทุนในอาเซียนมีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวขอภาคอุตสาหกรรมและการบริการ

นอกจากนี้ ข้อดีของอาเซียน คือ มีประชากรวัยทำงานอายุยังน้อยระดับต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งจะเป็นตัวส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย และจากการร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่จะเปิดเสรีมากขึ้นในระยะต่อไป อีกทั้งกลุ่มอาเซียนยังมีความร่วมมือกันระหว่างประเทศในเอเชียอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น เป็นตัวผลักดันศักยภาพของอาเซียนให้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงเศรษฐกิจในประเทศหากให้เกิดศักยภาพในตลาดอาเซียน ทั้ง ธปท.,กระทรวงการคลัง และก.ล.ต. จะต้องร่วมมือกัน เพื่อผลักดันการค้า การเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานของ ธปท.จะอนุญาตเคลื่อนย้ายเงินทุนได้มากขึ้น จากการเปิดเสรี เมื่อมีความพร้อม และยังต้องปลดล็อกการลงทุนของนักลงทุนไทยไปต่างประเทศ และต่างประเทศมาลงทุนในไทย ซึ่ง ธปท.จะกำหนดแนวทางที่ผ่อคลายมากขึ้น เช่น สถาบันไปลงทุนต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดวงเงิน ,รายย่อยไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น แม้ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือ ต้องเป็นกลุ่มรายย่อยที่เป็น high Network เป็นต้น ขณะที่ในอนาคต ธปท.ติมีแผนกลยุทธ์ภูมิภาค โดยเน้นกลุ่ม CLMV โดยใช้ไทยเป็นฐานให้บริการด้านแบงก์และนอนแบงก์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ