BEM เชื่อปีนี้กำไรโตชัดเจน คาดรายได้รถไฟฟ้าโต 20% ตามผู้โดยสาร-รับค่าจ้างสายสีม่วงเต็มปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 16, 2017 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เชื่อว่า ผลประกอบการในปี 60 กำไรจะเติบโตอย่างชัดเจนจากปีก่อนที่ฐานค่อนข้างต่ำ ขณะที่คาดว่ารายได้ในส่วนธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโต 20% จากปีก่อน

สาเหตุหลักของการเติบโตมาจากจำนวนผู้โดยสารน่าจะเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 2.7 แสนคน/วัน และจากการเชื่อมต่อ 1 สถานีจากบางซื่อ-เตาปูน ที่จะเปิดให้บริการเดือน ส.ค.นี้ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในเส้นทางสายสีม่วงตลอดทั้งเส้นทางจะเติบโต 20% จากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสาร 30,000 คน/วัน รวมทั้งปีนี้บริษัทจะได้รับค่าจ้างเดินรถสายสีม่วงเต็มปี จำนวน 1.8-1.9 พันล้านบาท

ส่วนการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน มี.ค.นี้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ BEM เป็นผู้เดินรถ ซึ่งมีระยะเวลา 36 เดือนในการเข้าไปติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และกำหนดเปิดให้บริการเดินรถภายในปี 63

นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทเตรียมสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 35 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาท โดยเกือบ 30 ขบวนจะใช้รองรับเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ผลิตรถไฟฟ้า 2 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นบริษัท ซีเมนส์ ที่ BEM ใช้ทั้งรถไฟฟ้าแลระบบอาณัติสัญญาณอยู่ในปัจจุบัน แต่หากไม่ได้เลือกซีเมนส์ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณทั้งเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เหมือนที่รถไฟฟ้าบีทึเอสเปลี่ยนมาใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบอมบาดิเอร์แทน

ทั้งนี้ เมื่อเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินจะสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารอีกเท่าตัว เป็น 6 แสนคน/วัน จาก 3 แสนคน/วันในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทจะทยอยเปิดเดินรถในแต่ละช่วง โดยใน 24 เดือนแรกจะเปิดเดินรถช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กม. มีสถานีใต้ดิน 4 สถานี และเมื่อครบ 36 เดือนก็เปิดเดินรถช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. มีสถานียกระดับ 7 สถานี

สำหรับสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน นายสมบัติ กล่าวว่า สัญญาเป็นแบบ Net cost เหมือนสัญญาเดินรถในเส้นทางสายสีน้ำเงินในปัจจุบันช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กม. และได้ยืดระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาไปเท่ากับส่วนต่อขยายคือในปี 92 ส่วนราคาค่าโดยสาร เพดานอยู่ที่ 42 บาทต่อการเดินทาง 12 สถานีขึ้นไป

ขณะที่การว่าจ้างเดินรถ 1 สถานีข่วงบางซื่อ-เตาปูน เพื่อเชื่อมต่อกับสายสีม่วงนั้น มีค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง 2 ปีจำนวน 104 ล้านบาท หากมีสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีนำเงินทั้งเส้นทางเดิมและส่วนต่อขยายก็จะนำการเดินรถ 1 สถานีดังกล่าวไปรวมเข้ากับสัญญาหลัก โดยที่ รฟม.ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างเดินรถ 2 ปี

ด้านนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการ BEM กล่าวว่า การเจรจาว่าจ้างให้ BEM เดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินนั้น บริษัทประเมินว่ามีความเสี่ยงจึงขอรัฐชดเขยจำนวนเงิน 760 ล้านบาท แต่เมื่อในที่สุดรัฐไม่ให้การชดเชย บริษัทก็ยินยอม เพราะเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันการลงทุนที่จะคุ้มค่าความเสี่ยงขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร

ทั้งนี้ บริษัทจะเร่งรัดการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จเร็วกว่ากำหนด 36 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ