KTBST ลุ้นเข้า mai ปี 61 หลังตั้งเป้ากำไรเพิ่ม 3-5 เท่าปีนี้ รุกธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 21, 2017 08:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST กล่าวว่า การนำหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) มีโอกาสเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นเป็นในปี 61 หลังจากที่ในปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไรครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี โดยมีกำไร 10 ล้านบาท และตั้งเป้าแผนงานปีนี้จะมีกำไรเพิ่มเป็นระดับ 30-50 ล้านบาท มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management) แตะระดับ 5 หมื่นล้านบาท จาก 2 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว และกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) แตะ 5 พันล้านบาท จาก 2.5 พันล้านบาทในปีก่อน

ขณะที่มีส่วนแบ่งการตลาดนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 2% จาก 1.7-2% ในปีที่แล้ว และจะรักษาการติดอันดับ 1 ใน 5 ของการซื้อขาย TFEX ในปีนี้ หรือมีส่วนแบ่งตลาดราว 5% จากเฉลี่ย 4-6% ในปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าที่มีคำสั่งซื้อขายอย่างสม่ำเสมอจำนวน (Active) จำนวน 7,000 บัญชี และมีโอกาสขึ้นไปเกือบ 10,000 บัญชีได้ในอนาคต จากปัจจุบันที่มีบัญชีทั้งหมดราว 20,000 บัญชี ซึ่งส่วนใหญ่ 90% มาจากบุคคลทั่วไป และลูกค้ากลุ่ม High Net Worth ส่วนอีกประมาณ 10% เป็นลูกค้าสถาบัน

"target เราจะยื่นไฟลิ่งปี 2018 และเข้าตลาดในปี 2019 ตามแผนปกติ แต่ก็มีโอกาสที่จะเร็วกว่านั้นเป็นในปี 2018 ถ้ากำไรเราทำได้ตามเป้าที่วางไว้ ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกก็น่าจะรู้แล้วถ้าเราทำกำไรได้ใกล้ ๆ ระดับ 30 ล้านบาท ก็เป็น point"นายวิน กล่าว

นายวิน กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนธ.ค.59 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 555 ล้านบาท ส่งผลให้การถือหุ้นของตัวเองเพิ่มเป็น 31% จากเดิม 25% ขณะที่ KTB Group เกาหลีใต้ถือหุ้นลดลงเหลือ 69% จากเดิม 75% และก่อนจะมีการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็คาดว่าจะมีการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งด้วย ขณะที่ปัจจุบันบริษัทได้ล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดแล้ว

สำหรับธุรกิจการให้บริการของบริษัทประกอบด้วย 8 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจ Wealth Management ,การบริการกองทุนส่วนบุคคล ,นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ ,บริการซื้อขายกองทุนรวม ,การบริการลงทุนต่างประเทศ

การบริการวาณิชธนกิจ (IB) ที่แม้ปัจจุบันบริษัทจะถูกพักใบอนุญาตที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เป็นเวลา 2 ปี ทำให้ยังไม่สามารถนำบริษัทเข้าระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ได้โดยตรงจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.61 นั้น แต่อย่างอื่นที่เกี่ยวข้องยังสามารถดำเนินการได้ โดยได้ทำมากขึ้นในส่วนของตราสารหนี้ และการปรับโครงสร้างทางการเงินให้กับบริษัทต่าง ๆ โดยปีนี้คาดว่าจะมีดีล IPO ที่เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Co Underwriter) อย่างน้อย 8 ดีล จากปีที่แล้วมีเพียง 1 ดีล ซึ่งจะอยู่ในช่วงไตรมาส 1/60 ราว 4 ดีล ขณะที่ในปี 61 มีโอกาสที่จะนำบริษัทระดมทุนผ่าน IPO ได้อย่างน้อย 2 บริษัท ซึ่งจะดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 1 บริษัท เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) 1 บริษัท ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี มีมูลค่าระดมทุนรวมกันเป็นหลักหมื่นล้านบาท

การบริการบทวิเคราะห์การลงทุน และ Algorithmic Trading ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนธ.ค.59 โดยในช่วงกว่า 1 เดือนที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามาใช้บริการคิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 400 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทยังโฟกัสอยู่ที่หุ้นไทย แต่ในอนาคตจะขยายไปยังตลาดอนุพันธ์ และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยปีนี้ตั้งเป้าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเพิ่มเป็น 1 พันล้านบาท

นายวิน กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์ของบริษัทในปีนี้ จะเน้นเพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพบุคคล เพื่อรองรับธุรกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ,พัฒนาคุณภาพของบริการ เพื่อยกระดับการให้บริการเทียบเท่าหรือดีกว่ามาตรฐานสากล ,การให้บริการลงทุนแบบครบวงจร ,เน้นการเติบโตทุกธุรกิจการลงทุนแบบเชิงรุก ,วางบทบาทของบริษัทในการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและบริหารจัดการความมั่งคั่ง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์การลงทุนและเทคโนโลยีในยุค 4.0 พัฒนา Platform "Ease of Use-Internat of Things"

โดยในเดือนมี.ค.บริษัทจะร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พาบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไปโรดโชว์ที่เกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยดึงนักลงทุนสถาบันต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยได้ในอนาคต ขณะเดียวกันยังจะเพิ่มงบลงทุนด้านไอทีมากขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยในปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 7-9% ของรายได้ จากปีที่แล้วที่ใช้เงินลงทุนราว 5% ของรายได้

สำหรับรายได้ในปี 59 จะมาจากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ราว 60% ธุรกิจวาณิชธนกิจ 20% ส่วนที่เหลือเป็นอื่น ๆ ราว 10% แต่ในปีนี้คาดว่าสัดส่วนของธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ จะลดลงเหลือราว 50% และเพิ่มสัดส่วนในธุรกิจวาณิชธนกิจ และกองทุนส่วนบุคคล รวมถึง Algorithmic Trading

ด้านนายชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของ KTBST กล่าวว่า บริษัทประมาณการเป้าหมายของ SET Index ในปี 60 ที่ระดับ 1,644 จุด บนสมมติฐานการเติบโตของกำไรของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ที่ระดับ 5% มาอยู่ที่ 8.87 แสนล้านบาท โดยใช้ค่า P/E สูงสุดที่ 18 เท่า ขณะที่กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี อยุ่ที่ 1,392-1,644 จุด

สำหรับการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน ในปี 60 จะชะลอตัวลงจากปี 59 ที่เติบโต 29% เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการขยายตัวของในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดกำไรจากสต็อกน้ำมัน กลุ่มขนส่ง และกลุ่มพาณิชย์ ที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว แต่ปีนี้จะเป็นการขยายตัวในหุ้นเกือบทุกกลุ่ม ตามภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่จะดีขึ้น

"แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 60 จะเป็นปีของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย เราประเมินผลประกอบการของบริษัทในตลาดจะฟื้นตัวกันถ้วนหน้า และจะเป็นปีที่ดีของตลาดหุ้นไทยอีกปีหนึ่ง หุ้นที่อิงกับภาวะเศรษฐกิจจะมีผลประกอบการที่ออกมาดีขึ้น รับอานิสงส์จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างหนักตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการลงทุนของภาครัฐ ที่จะเห็นเป็นรูปธรรมหลังเริ่มมีการประมูลงานมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า"นายชาตรี กล่าว

นายชาตรี กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะยังสามารถฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง จาก 4 ปัจจัยหลัก คือ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทย , การฟื้นตัวของภาคการเกษตร และ ธุรกิจขนาดเล็กในต่างจังหวัด , การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นในโครงสร้างพื้นฐาน , การท่องเที่ยวที่ยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะเติบโต 3.2%

ส่วนเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 60 ของโลกมีทิศทางดี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์จีดีพีของโลกจะเติบโต 3.4% จาก 3.1% ในปี 59 เศรษฐกิจในเอเชียยังคงเป็นแหล่งเติบโตหลักของเศรษฐกิจโลก การเติบโตที่โดดเด่นของสหรัฐฯที่ได้รับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และยุโรปตะวันออกที่ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปจะชะลอตัวลงจากปีก่อนจากความเสี่ยงด้านการเมือง แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่น่าจับต้องจับตามองในปีนี้ ได้แก่ การดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ , การเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี , ปัญหาหนี้สินภาคเอกชนและปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน

สำหรับพอร์ตการลงทุน KTBST ยังแนะนำการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ยังน่าสนใจจากเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น สำหรับนักลงทุนรับความเสี่ยงได้ต่ำแนะนำลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐบาลที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี และกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น อย่าง รีท ในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ