BCP วางงบ 300-350 ล้านเหรียญฯ ขยายกำลังกลั่นเป็น 1.33-1.35 แสนบาร์เรล/วัน,ศึกษาต่อยอดธุรกิจชีวภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 21, 2017 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อดำเนินการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มเป็นระดับ 1.33-1.35 แสนบาร์เรล/วัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 300-350 ล้านเหรียญสหรัฐ จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 63 จากปัจจุบันที่มีกำลังการกลั่นอยู่ระดับ 1.2 แสนบาร์เรล/วัน และปีนี้มีแผนจะใช้กำลังการกลั่นได้สูงถึงระดับ 1.11 แสนบาร์เรล/วัน จากระดับ 1.01 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ 3E ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่น (Efficiency) การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า (Energy) และการลงทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม (Environment) ซึ่งล่าสุดการการติดตั้งหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำเทคโนโลยีใหม่แบบ Cogeneration หน่วยที่ 3 ขนาดประมาณ 12 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตค่าไฟฟ้าลงได้ราว 20%

ขณะที่ยังมีโครงการที่เหลือคือ การติดตั้งหน่วยเพิ่มออกเทนเทคโนโลยีใหม่แบบ Continuous Catalyst Regeneration (CCR) ซึ่งเป็นหน่วยที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันใส คาดว่าจะเริ่มประมูลได้ปีนี้และแล้วเสร็จในปี 62 ใช้เงินลงทุน 200-250 ล้านเหรียญสหรัฐ และการขยายกำลังการผลิตแบบคอขวด (Debottleneck) ซึ่งใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบ และคาดว่าจะประมูลหาผู้รับเหมาในปี 61 แล้วเสร็จในปี 63

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อต่อยอดผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Product) เพื่อรองรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ (Biotech) ในไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยจะใช้วัตถุดิบที่มาจากผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม หรือกากน้ำตาล เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (speciality product) ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้และคาดว่าจะดำเนินการได้เลยในปีนี้เช่นกัน จากปัจจุบันที่บริษัทมีธุรกิจไบโอดีเซล และเอทานอลอยู่แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินการสร้างศูนย์นวัตกรรม Bangchak Initiative Innovation Center (BIIC) เพื่อนำผลวิจัยมาต่อยอดและขยายธุรกิจใหม่ โดยตั้งเป้าหมายจะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ราว 0.5% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของแต่ละปีด้วย

"เรากำลังดูว่าจะต่อยอดได้อย่างไร เราคงไม่เข้าไปสู้ในส่วนของไบโอพลาสติก ที่เป็น mass production เราก็จะวิ่งไปที่ speciality product เราคาดว่าจะสรุปได้ในครึ่งแรกปีนี้และก็หวังว่าจะดำเนินการได้เลยในปีนี้เช่นกัน"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนงานในปีนี้ในส่วนของธุรกิจโรงกลั่น คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากการการใช้กำลังกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และค่าการกลั่นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาที่ราว 6-7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 5.99 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่ล้ว โดยกำลังกลั่นที่เพิ่มขึ้นทำให้ในอนาคตบริษัทอาจต้องใช้น้ำมันดิบนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเป็น 60% จากปัจจุบัน 50% และการใช้น้ำมันดิบจากในประเทศเหลือ 40% จากเดิม 50% เพราะน้ำมันดิบในประเทศมีไม่เพียงพอ

ส่วนธุรกิจการตลาด คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันในปีนี้เพิ่มเป็น 530 ล้านลิตร/เดือน จากราว 490 ล้านลิตร/เดือนในปีที่แล้ว และจะมีส่วนแบ่งตลาดน้ำมันผ่านสถานีบริการเพิ่มเป็น 15.2% จาก 15.1% ในปีที่แล้ว ขณะที่คาดการตลาดอยู่ในช่วง 75-80 สตางค์/ลิตร มีแผนเปิดสถานีบริการน้ำมันอีก 100 แห่ง แต่ก็จะมีปิดบางแห่ง ทำให้การเปิดสถานีบริการน้ำมันใหม่สุทธิจะอยู่ที่ราว 60-70 แห่ง โดยจะเน้นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จากปีที่แล้วเปิดสถานีบริการน้ำมันใหม่สุทธิเพียง 3 แห่งเท่านั้น รวมถึงจะมีการรีแบรนด์ดิ้งสถานีบริการสหกรณ์ให้ดีขึ้นด้วย

ด้านธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) จะยังมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่าย โดยการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง Galoc ในฟิลิปปินส์ จะลดลงเหลือราว 2 พันบาร์เรล/วัน จากราว 3 พันบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว ตามปริมาณปิโตรเลียมที่ทยอยลดลง ขณะเดียวกันก็จะเริ่มขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมใหม่ในแหล่ง Mid Galoc เพื่อหาปริมาณสำรองปิโตรเลียมรองรับการผลิตในอนาคต แต่ในส่วนนี้คาดว่าผลการดำเนินงานของ E&P จะดีขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้

ขณะที่การผลิตแร่ลิเทียมจากเหมืองในอาร์เจนตินา บริษัทก็จะใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน Lithium Americas Crop. รวม 42.5 ล้านเหรียญแคนาดาภายในเดือน เม.ย.60 เพื่อเป็นเงินลงทุนในการพัฒนาเหมืองแร่ลิเทียมดังกล่าว คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 62 ด้วยกำลังผลิต 2.5 หมื่นตัน/ปี และเพิ่มเป็น 5 หมื่นตัน/ปี ในปี 64

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/60 คาดว่าน่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 4/59 ที่ได้รับผลกระทบจากค่าการตลาดที่ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ในช่วงไตรมาสนี้ คาดว่าการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันจะสูงขึ้น ค่าการกลั่นจะสูงขึ้น ขณะที่การใช้กำลังการกลั่นน่าจะทรงตัวจากไตรมาส 4/59 ส่วนค่าการตลาดน่าจะดีกว่าไตรมาส 4/59 เล็กน้อย

แผนการลงทุนในปีนี้บริษัทจะใช้งบราว 1.85 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมการลงทุนในส่วนของบมจ.บีซีพีจี (BCPG) ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษา (Maintenance CAPEX) 5 พันล้านบาท หรือราว 27% ,ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อการเติบโต (Growth CAPEX) จำนวน 5 พันล้านบาท หรือราว 27% ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณในส่วนของการขยายสถานีบริการน้ำมันราว 3 พันล้านบาท และลงทุนในโครงการ CCR , ธุรกิจไบโอฟูเอล 3 พันล้านบาท หรือราว 16% ,ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ (Resources) จำนวน 4 พันล้านบาท หรือราว 22% ,ธุรกิจการตลาด 1 พันล้านบาท หรือราว 5% ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในนวัตกรรมและอื่น ๆ (Innovation & Other) 500 ล้านบาท โดยวางเป้าจะมี EBITDA เติบโตราว 20% จาก 1.11 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว

นายสุรชัย โฆษิตเสรีวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านบัญชีและการเงิน ของ BCP กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดราว 9 พันล้านบาท และมีภาระจ่ายคืนหนี้หุ้นกู้ในปีนี้ราว 2 พันล้านบาทในช่วงเดือนเม.ย. ทำให้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นจะต้องจัดหาแหล่งเงินลงทุนเพิ่มเติม แต่หากมีโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ เข้ามาก็คาดว่าจะเห็นการจัดหาแหล่งเงินลงทุนเพิ่มเติมได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ