(เพิ่มเติม) PDI รุกหนักพลังงานทดแทนวางเป้าลงทุน 2.3 พันลบ.ทำโซลาร์ฟาร์ม 150 MW ใน 3 ปี พร้อมศึกษาพลังน้ำ-พลังลม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 7, 2017 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) มองแนวโน้มผลประกอบการปี 60 จะเติบโตดีกว่าปี 59 ที่ทำกำไรสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะหากในปีนี้ราคาสังกะสีโลกยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2,600-2,900 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากรายได้หลักของบริษัทกว่า 90% ยังมาจากธุรกิจสังกะสี ขณะที่รายได้อีก 10% จะมาจากธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม ซึ่งในปีนี้จะรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 2 แห่ง คือ โซลาร์ฟาร์มโนกาตะ ขนาด 10 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มเรียวชิยา ขนาด 2 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มเดินเครื่องในช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 3/60

ขณะที่บริษัทวางเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนช่วง 3 ปี (ปี 60-64) ระดับ 6 พันล้านบาท เพื่อขยายงานใน 3 ธุรกิจหลัก ทั้งพลังงาน ,แมททีเรียล ซึ่งทำธุรกิจรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม และอีโค ทำธุรกิจศูนย์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยธุรกิจพลังงาน ตั้งเป้าหมายจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม 150 เมกะวัตต์ ในช่วง 3 ปี ด้วยงบลงทุนเบื้องต้น 2.3 พันล้านบาท จากการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการ SPP Hybrid Firm และโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ พร้อมมองโอกาสการลงทุนผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมด้วย

นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ ของ PDI กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะยังมีรายได้หลักจากธุรกิจสังกะสีกว่า 90% หลังจะมีการขายโลหะสังกะสีราว 6 หมื่นตัน ซึ่งในส่วนนี้จะมาจากแร่เหมืองแม่สอดที่มีต้นทุนต่ำอยู่อีกกว่า 3 หมื่นตัน และนำเข้าโลหะสังกะสีมาจำหน่ายอีกราว 3 หมื่นตัน เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในประเทศ และในปีหน้าเมื่อใช้แร่จากแหล่งในประเทศหมดแล้ว ก็คาดว่าจะเป็นการนำเข้าโลหะสังกะสีมาจำหน่ายทั้งจำนวนราว 6 หมื่นตัน/ปี

ขณะที่ในปีนี้หากราคาโลหะสังกะสียังคงปรับตัวสูงขึ้นสูงในระดับ 2,600-2,900 เหรียญสหรัฐ/ตัน จะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งล่าสุดราคาโลหะสังกะสีในตลาดโลกอยู่ที่ 2,829.50 เหรียญสหรัฐ/ตัน ท่ามกลางสถานการณ์สต็อกโลหะสังกะสีที่คลังสินค้า LME อยู่ในระดับต่ำราว 3.86 แสนตัน

สำหรับรายได้อีก 10% ในปีนี้จะมาจากโซลาร์ฟาร์มทั้งในประเทศและญี่ปุ่น หลังจะมีกำลังผลิตใหม่ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ใหม่อีก 2 แห่งในญี่ปุ่น ได้แก่ โซลาร์ฟาร์มโนกาตะ ขนาด 10 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มเรียวชิยา ขนาด 2 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มเดินเครื่องในช่วงไตรมาส 2/60 และไตรมาส 3/60 ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD แล้วรวมเป็นประมาณ 20 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีโซลาร์ฟาร์มที่ COD แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ในญี่ปุ่น ขนาด 2 เมกะวัตต์ และโซลาร์มฟาร์มแม่ระมาด ที่ จ.ตากอีก 6 เมกะวัตต์ ขณะที่ PDI มีเป้าหมายจะมีโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศ รวม 150 เมกะวัตต์ในระยะ 3 ปี

นายฟรานซิส กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนสำหรับการลงทุนช่วง 3 ปีข้างหน้าตามศักยภาพที่ลงทุนได้ ราว 6 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เบื้องต้นราว 2.3 พันล้านบาทจะใช้ลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม เพื่อให้กำลังการผลิตตามเป้าหมาย และส่วนที่เหลือราว 1.6 พันล้านบาท จะใช้ลงทุนในธุรกิจแมททีเรียล ซึ่งเป็นการสร้างโรงงานเพื่อรีไซเคิลวัสดุใน จ.ระยอง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในต้นปี 62

และอีกประมาณ 600 ล้านบาท จะใช้ลงทุนในธุรกิจอีโค ซึ่งทำโครงการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ในจ.ตาก รองรับกากอุตสาหกรรมได้ปีละ 50,000 ตัน จากพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ

ทั้งนี้ ภายในปี 62 คาดว่าสัดส่วนรายได้ของบริษัทราว 40% จะมาจากธุรกิจแมททีเรียล ส่วนอีก 40% มาจากธุรกิจพลังงาน ขณะที่เหลือราว 20% มาจากธุรกิจอีโค

ด้านนายสาคร สุริยาภิวัฒน์ ผู้อำนวยการ-พัฒนาธุรกิจ ของ PDI กล่าวว่า ตามเป้าหมายกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์ม 150 เมกะวัตต์ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่มีอยู่ในญี่ปุ่น ราว 35 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม แม่ระมาด 6 เมกะวัตต์แล้ว บริษัทเตรียมเข้าร่วมยื่นขายไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบผสมผสานในรูปแบบสัญญาเสถียร (SPP Hybrid Firm) ที่รัฐบาลมีแผนจะเปิดรับซื้อในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการลงทุนในพื้นที่บ่อเก็บกากแร่ของบริษัทใน จ.ตาก ที่สามารถรองรับการทำโซลาร์ฟาร์มได้ถึง 80 เมกะวัตต์ แต่การยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวจะอยู่ในระหว่าง 10-50 เมกะวัตต์ ขึ้นกับการออกแบบโครงการด้วย โดยจะเป็นการผสมระหว่างเชื้อเพลิงพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage)

พร้อมกันนี้ยังเตรียมเข้าเสนอโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ ที่คาดว่ารัฐบาลจะเปิดรับซื้อ 119 เมกะวัตต์ในช่วงไตรมาส 2/60 ซึ่งบริษัทได้ติดต่อร่วมมือกับกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรไม่ต่ำกว่า 30 ราย และคาดหวังว่าจะจับสลากได้โครงการรวม 20 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ PDI ยังมองโอกาสการเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว ที่อยู่ระหว่างศึกษาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ขนาด 20-50 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนใหม่ เบื้องต้นอาจจะเข้าถือหุ้น 70% คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ หากได้เข้าร่วมลงทุนก็คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปีในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงศึกษาลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตลอดจนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในยุโรปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ