KTBST คาด SET วันนี้แกว่งตัว sideway แนะชะลอลงทุนรอความชัดเจนเฟดปรับดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 9, 2017 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) (KTBST) ประเมินทิศทางตลาดไทยวันนี้ (9 มี.ค.) อาจเห็นการรีบาวด์ต่อจากวันก่อน แต่ดัชนีฯจะแกว่งแบบ sideway คาดจะปิดบวกหรือลบเพียงเล็กน้อย กลยุทธ์การลงทุน ตลาดยังมีความเสี่ยงจากแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศแต่น่าจะเริ่มน้อยลง เพราะมีการขายออกมาระยะหนึ่งแล้ว วันนี้ อาจต้องไปดูความแข็งแรงของดัชนีฯที่ระดับ 1,550 จุด ว่าจะยังมีอยู่หรือไม่

ดังนั้น โดยรวมยังแนะนำชะลอการลงทุน หรือถือรอเพื่อดูทิศทางตลาดว่าจะออกไปในทางใด การลงทุนในช่วงนี้ยังต้องเป็นแบบเก็งกำไรช่วงสั้นๆคือลงซื้อขึ้นขาย ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหรือหุ้นที่มีลักษณะเป็น Defensive ที่ไม่อิงกับภาวะตลาดมากนัก หุ้นที่เราคาดว่าอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุนในวันนี้ อาทิเช่น BDMS , CPN , TVO"

นายมงคล กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯเคลื่อนไหวในทางที่เป็นลบ ก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ในสัปดาห์หน้า (14-15 มี.ค.) เนื่องจากแนวโน้มจะมีการปรับดอกเบี้ย หลังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายท่าน ออกมาสนับสนุนให้ปรับขึ้นดอกเบี้ย

นอกจากนั้น ข้อมูลหลายตัวออกมายืนยัน ล่าสุดจะเป็นตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ที่เพิ่มขึ้น 2.98 แสนตำแหน่ง มากกว่าที่คาดที่ 1.9 แสนตำแหน่ง ความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด Fed ในการประชุมครั้งนี้ วัดจากโอกาสความเป็นไปได้ในการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟด (Fed Fund Futures Probability) สูงงขึ้นแตะระดับ 100% ในคืนที่ผ่านมา

การที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้าแม้จะพอทราบล่วงหน้า แต่ตลาดไม่ได้เตรียมรับเรื่องนี้ไว้มากพอ เป็นผลให้มีแรงขายเกิดขึ้น แต่เราประเมินว่าแรงขายของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นต่างๆ จะเริ่มชะลอลง และจากนี้จนการประชุมเสร็จสิ้นจะเป็นลักษณะของการถือรอหรือเลือกขายในบางตลาดมากกว่า ส่วนการประชุม ECB ในวันนี้ คาดจะคงนโยบายการเงินไว้ซึ่งจะไม่มีผลต่อตลาดหุ้น

ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI ทรงตัวแถวๆ ปรับลงมาแตะ 50 เหรียญสหรัฐ ความกังวลต่อการผลิตน้ำมันและ stock น้ำมันดิบของสหรัฐฯ เป็นลบต่อราคาน้ำมัน ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวมๆ คือ ความเสี่ยงภายนอก อาทิการประชุม FOMC และการแข็งค่าของดอลล่าร์ ทำให้มีการชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้ ช่วงสั้นๆ เรามองเป็นลบต่อหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

ส่วนปัจจัยในประเทศ ค่าของเงินบาทที่อ่อนค่าลง (ผลจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น) ล่าสุด 35.28 บาท/ดอลล่าร์ อาจลดความกังวลในการที่ ธปท.จะมีการแทรกแซงค่าเงินลงไปได้บ้าง แต่ถึงกระนั้น โดยรวมแล้ว ปัจจัยภายในประเทศ ถือว่าไม่มีอะไรใหม่ที่จะเข้ามากระตุ้นตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ