โบรกฯเชียร์"ซื้อ"CK ลุ้นเซ็น MOU โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในลาวเม.ย.,งานภาครัฐหนุน Backlog แตะแสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 10, 2017 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เชียร์"ซื้อ"หุ้นบมจ.ช.การช่าง (CK) รับข่าวดีมีโอกาสรับงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในลาว คาดว่าจะลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) เดือน เม.ย.นี้ รวมถึงมีโอกาสจะได้รับงานโครงการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยหนุนให้มูลค่างานในมือ (Backlog) พุ่งแตะ 1 แสนล้านบาทในปีนี้ จากปัจุบันที่มีราว 8.3-8.4 หมื่นล้านบาท พร้อมคาดปี 61 กำไรหลักจะกลับมาโตถึง 63% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลังโครงการที่ก่อสร้างให้กำไรเต็มที่

ขณะที่ CK นับว่ามีจุดเด่นที่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และยังถือหุ้นในบริษัทที่ทำโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำของประเทศ คือ BEM, CKP และ TTW ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ CK ราคาหุ้น CK พักเที่ยงอยู่ที่ 26.75 บาท ลดลง 0.75 บาท (-2.73%) ขณะที่หุ้นไทยลดลง 0.47%

          โบรกเกอร์                 คำแนะนำ                 ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เคจีไอ                       ซื้อ                         39.50
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ              ซื้อ                         38.00
          โกลเบล็ก                     ซื้อ                         38.00
          ซีไอเอ็มบี                     ซื้อ                         34.00
          บัวหลวง                      ซื้อ                         33.25
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ              ซื้อ                         32.00

นายสุรชัย ประมวลเจริญกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า CK ยังมีปัจจัยหนุนจากโอกาสการรับงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาด 1,410 เมกะวัตต์ในลาว ซึ่งใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โดยคาดว่ารัฐบาลลาวเตรียมประกาศโครงการใหม่ และกำหนดเซ็น MOU ประมาณ เม.ย.นี้ และ CK มีศักยภาพที่จะได้งานนี้ หลังจากประสบความสำเร็จอย่างสูงในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการตัวอย่างที่เป็นเลิศบนแม่น้ำโขง ทั้งนี้ โครงการใหม่นี้มีมูลค่างานก่อสร้างโยธาประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน CK มีงานในมือ 8.34 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ประมาณ 2-3 ปี โดยงานดังกล่าวยังไม่รวมงานที่กำลังจะลงนามในเร็ว ๆ นี้ คือ งานเครื่องกลและวางระบบ (M&E) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 2.5 หมื่นล้านบาท และ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา สัญญา 4 มูลค่า 1.98 พันล้านบาท

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกผู้บริหาร CK ประเมินว่าจะมีงานที่เปิดประมูลประมาณ 1.26 แสนล้านบาท และครึ่งปีหลังจะเปิดประมูลอีก 8-9 แสนล้านบาท ซึ่ง CK คาดหวังจะได้งานประมาณ 20-25%

"CK มีจุดเด่นที่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และมีเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำของประเทศ คือ BEM, CKP และ TTW เฉพาะเงินลงทุนในบริษัทลูกมีมูลค่าถึง 4.8 หมื่นล้านบาท หรือ คิดเป็น 28 บาทต่อหุ้น"นายสุรชัย กล่าว

ขณะที่ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดว่า CK จะมีมูลค่างานในมือแตะระดับ 1 แสนล้านบาทได้ในปีนี้ เทียบกับปัจจุบันที่ 8.4 หมื่นล้านบาท หลัง บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เตรียมทำ MOU กับรัฐบาลลาวในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งใหม่ คาดว่ามูลค่างาน 1 แสนล้านบาท ซึ่งมีขนาด 1,400-1,500 เมกะวัตต์ ใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่มีกำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ มูลค่างาน 9.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีการประกาศโครงการใหม่ประมาณ เม.ย.60 ส่วนการก่อสร้างจริงคาดว่าจะใช้เวลาที่ทอดยาวออกไปอีก 1-2 ปี

ขณะที่คาดการณ์ว่ากำไรหลักของ CK จะกลับมาโตถึง 63% ในปี 61 เพราะโครงการที่ก่อสร้างให้กำไรเต็มที่ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้ม

"เรายังคงชอบ CK เพราะในประเด็นการเป็นผู้ที่มีความชำนาญสูงในงานก่อสร้าง ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน มีศักยภาพสูงที่จะได้รับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในอนาคต และสามารถผสานประโยชน์จากบริษัทในกลุ่มให้ได้ผลตอบแทนที่สูง"ดีบีเอสฯ ระบุ

ด้านบทวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก ระบุว่า ปี 60 กำไรปกติของ CK เติบโต 13% จากปีที่แล้ว และคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวขึ้นจาก 7% ในปี 59 สู่ระดับ 8-9% ในปีนี้ เนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มมีส่วนของงานก่อสร้างใต้ดินที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่างานในปัจจุบัน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารมีแนวโน้มปรับตัวลงราว 50-70 ล้านบาท หากเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากการย้ายพนักงานจากสำนักงานใหญ่ไปก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

นอกจากนี้ภาครัฐเตรียมเปิดประมูลงานในปีนี้กว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน CK มีงานในมือราว 8.3 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้เซ็นสัญญางานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มมูลค่า 4.4 หมื่นล้านบาท(กิจการร่วมค้า CK 60% และ STEC 40%) และ CK คาดว่าจะลงนามสัญญาจัดหาอุปกรณ์และขบวนรถของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแคมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท จาก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เมื่อมีการเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งปีแรกของปีนี้

รวมถึงในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่า รฟท.จะสามารถเปิดประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท หลังจากมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลใหม่แล้วเสร็จ ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าภาครัฐจะเปิดประมูลงานรถไฟฟ้า 6 เส้นทางมูลค่ารวม 4 แสนล้านบาท ได้แก่ สายสีม่วง(เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) สายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงิน(บางแค-พุทธมณฑลสาย4) สายสีเขียว(สมุทรปราการ-บางปู และคูคต-ลำลูกกา) แอร์พอร์ตลิงค์(ดอนเมือง-พญาไท) และสายสีแดง(รังสิต-ธรรมศาสตร์) และมีงานประมูลรถไฟทางคู่และงานประมูลภาครัฐอื่นๆ รวม 13 โครงการมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ