KKP ปรับกลยุทธ์เน้นเข้าถึงลูกค้าในเชิงรุกและขยายสินเชื่อสู่รายย่อยผ่าน ADC ยกระดับสู่ Credit House

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 13, 2017 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภัทรพงศ์ รักตะบุตร ประธานสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้า ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของกลุ่มสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้า (Alternative Distribution Channel หรือ ADC) ในปี 60 อยู่ที่มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่กลุ่มสายงาน ADC มียอดปล่อยสินเชื่อรายย่อยไปทั้งหมด 5 พันล้านบาท โดยกลุ่มสายงาน ADC เพิ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 59 โดยมีผลิตภัณฑ์รายย่อยที่บริหาร ได้แก่ สินเชื่อบุคลล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อ KK SME รถคูณ 3

กลยุทธ์ไนการขยายการเติบโตในปี 60 ธนาคารจะเพิ่มพื้นที่การให้บริการกับลูกค้าตามหัวเมืองที่มีศักยภาพ และสร้างทีมบริหารงานขายเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์และช่องทางการทำตลาดใหม่ ซึ่งจะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อรองรับการเติบโตเป็น 1,000 คน จากปีก่อนที่มีจำนวนพนักงานในสายงาน ADC อยู่ที่ 600 คน ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มสายงาน ADC ถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยเสริมศักยภาพของการขยายธุรกิจรายย่อยได้เป็นอย่างดี

โครงสร้างของสายช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้าของธนาคารเกียรตินาคิน ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยเน้นการขยายธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามโครงสร้าง ‘4+1’ ได้แก่ 4 กลุ่มงานสนับสนุน และ 1 กลุ่มงานบริหารงานขายที่เป็นหัวใจหลักในการรุกตลาด ทั้งนี้ 4 กลุ่มงานสนับสนุน ประกอบด้วย กลุ่มงานวางแผนและพัฒนาฐานลูกค้า (Sales Strategic Planning) ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล วางแผนกลยุทธ์ พัฒนาธุรกิจ ตลอดจนกำหนดนโยบายการตลาดและการขายให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ

กลุ่มงานบริหารประสิทธิภาพและผลงานของทีมขาย (Performance Management) ซึ่งทำหน้าที่จัดการฐานข้อมูลผู้แทนการตลาด สนับสนุนระบบงาน และบริหารผลงานการขาย กลุ่มงานกำกับมาตรฐานงานขาย (Sales Governance & Service Delivery) ซึ่งดูแลด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบของผู้แทนการตลาดและควบคุมความเสี่ยง และกลุ่มงานพัฒนาบุคลากรและสนับสนุนงานขาย (Sales Development & Support) ซึ่งทำหน้าที่จัดหากำลังคน ตลอดจนฝึกอบรมพัฒนาความเชี่ยวชาญในการทำงาน

นอกจากนี้ธนาคารยังตั้งเป้าที่จะปรับพอร์ตระหว่างสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ให้อยู่ในระดับที่เท่ากัน คือ 50:50 ภายในปีอีก 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งการพัฒนาสายงาน ADC ให้มีศักยภาพสูงขึ้นจะช่วยให้สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น จากสิ้นปีก่อนที่มีสัดส่วนส่วนสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 30% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 70% โดยธนาคารมองว่าแนวโน้มของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เริ่มมีการชะลอตัวลง และมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงหากยังคงเน้นการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระดับที่สูง และสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่ให้มาร์จิ้นดี ซึ่งถือเป็นโอกาสของธนาคารในการขยายการเติบโตและรุกตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น

“การขยายฐานลูกค้าสินเชื่อผ่านสายงานช่องทางการตลาดและพัฒนาฐานลูกค้า เป็นช่องทางการตลาดที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับธนาคารเกียรตินาคินและถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้มีการอำนวยสินเชื่อรายย่อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับให้ธนาคารก้าวสู่การเป็น Credit House คุณภาพได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ช่องทางใหม่นี้ทำให้ธนาคารสามารถเข้าถึงและนำเสนอบริการให้แก่ลูกค้ารายย่อยได้อย่างกว้างขวาง สะดวก และรวดเร็ว ผ่านผู้แทนการตลาดที่มีประสบการณ์และความชำนาญในผลิตภัณฑ์ โดยภายในระยะเวลาเพียง 10 เดือนของการจัดตั้ง ADC สามารถทำได้ดีเกินกว่าแผนงานที่วางไว้ สร้างการเติบโตของสินเชื่อในแต่ละประเภทได้อย่างรวดเร็ว มียอดสินเชื่อใหม่เข้ามาทาง ADC กว่า 5 พันล้านบาท"นายภัทรพงศ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ