ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของ CPALL ที่ A-(tha)

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 23, 2017 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันชุดใหม่ของ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่ ‘A-(tha)’ หุ้นกู้ดังกล่าวมีจำนวนเงินรวมไม่เกิน 4.5 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2572 โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะนำไปชำระคืนหุ้นกู้ของบริษัทฯ ที่ครบกำหนดไถ่ถอน

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันได้รับการจัดอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ ของบริษัทผู้ออกหนึ่งอันดับ เนื่องจากหนี้สินส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน โดยมีอัตราส่วนหนี้สินมีหลักประกันต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (Secured Debt to EBITDA) ในปี 2559 อยู่ที่ 3.5 เท่า

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ประกอบด้วย อัตราส่วนหนี้สินที่สูง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL ที่วัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (funds flow from operations (FFO) adjusted net leverage) น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่าหลังจากปี 2561 การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL มีความล่าช้ากว่าที่คาด เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่อ่อนแอในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนการขายหุ้นในบริษัทย่อย ซึ่งได้แก่ บมจ. สยามแม็คโคร (MAKRO) บางส่วน ฟิทช์คาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

กระแสเงินสดเติบโตในระดับปานกลางแต่มั่นคง: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ CPALL จะเติบโตในอัตรา 9% ถึง 10% ต่อปีในช่วงปี 2560-2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากสาขาที่เปิดใหม่และการฟื้นตัวของอัตราการเติบโตของยอดขายต่อร้านค้าเดิม (Same-Store Sale) มาอยู่ในระดับ 3-4% ของทั้งร้าน 7-Eleven และ Makro (ในปี 2559 อัตราการเติบโตดังกล่าวอยู่ที่ 2.4% และ 4.1% ตามลำดับ) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงได้รับประโยชน์จากการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากสินค้าที่ขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีความผันผวนของรายได้และอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่ศักยภาพในการเติบโตของบริษัทฯ ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาวะของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในประเทศไทยที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้นำในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ: ฟิทช์เชื่อว่า CPALL จะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำทางการตลาดไว้ได้ แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกจะมีการแข่งขันที่สูง CPALL มีจำนวนร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven มากกว่า 9,500 ร้านทั่วประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ในด้านจำนวนร้าน ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก ความเป็นผู้นำในตลาดของ CPALL มีปัจจัยสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีร้านค้าในเครือเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง รวมถึงการมีหน่วยงานในเครือที่สนับสนุนกิจการค้าปลีกของบริษัทฯ ได้แก่การบริการด้านลอจิสติกส์ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาร้านค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงาน

เครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง: CPALL บริหารงานร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ภายใต้สัญญา Area License Agreement ที่ทำกับบริษัท 7-Eleven Inc., แห่งสหรัฐอเมริกา โดยได้เปิดดำเนินการร้านค้าแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2532 ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านค้า 7-Eleven มากเป็นอันดับที่สองในโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป CPALL มีสถานะทางการตลาดในประเทศไทยที่แข็งแกร่ง จากการเป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งมีสถานะคล้ายคลึงกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (มีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และบมจ. ไทยออยล์ (TOP) (มีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม CPALL มีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งกว่าด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าคู่แข่งรายใหญ่อันดับสองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ CPALL ยังมีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต่ำกว่า SCC และ TOP ซึ่งต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าที่มีลักษณะเป็นวัฏจักรและความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งทำให้ CPALL มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่มีความสม่ำเสมอมากกว่า อย่างไรก็ตาม CPALL มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCC และ TOP เป็นอย่างมาก เนื่องจากหนี้สินที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการ Makro ในปี 2556 แต่ด้วยการที่ธุรกิจมีความต้องการเงินลงทุนที่ต่ำกว่า อัตราส่วนหนี้สินของ CPALL จึงน่าจะค่อยๆ ลดลงในอนาคต

ความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต่ำกว่าของ CPALL เพียงพอที่จะชดเชยระดับอัตราส่วนหนี้สินของ CPALL ที่สูงกว่า SCC ทั้งสองบริษัทจึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกัน ส่วน TOP มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำมากโดยอยู่ในระดับประมาณ 1 เท่า จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า นอกจากนี้ อันดับเครดิตของ TOP ยังได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์กับกลุ่ม ปตท. อีกด้วย

สำหรับสมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ ได้แก่ รายได้รวมมีการเติบโตในอัตรา 9-10% ต่อปี ในปี 2560-2561, อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10.2-10.4% ในปี 2560-2561 และมีการเปิดร้านค้าใหม่จำนวน 700 สาขาต่อปีในช่วงปี 2560-2561 สำหรับร้าน 7-Eleven และ 4 สาขาสำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ของ Makro ในปี 2560-2561

ขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก ได้แก่ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า (ณ สิ้นปี 2559: 5.4 เท่า)

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ การที่บริษัทฯ ไม่สามารถทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ลดลงต่ำกว่า 4.5 เท่าได้ในปี 2561, อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและ ค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) ที่ลดลงต่ำกว่า7.5% อย่างต่อเนื่อง (ปี 2559: 10.1%)

ด้านสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง CPALL มีหนี้สินประมาณ 2 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 โดย 15.8% จะครบกำหนดชำระคืนในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นปี 2559 ประมาณ 96% ของหนี้สินทั้งหมดของ CPALL เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท ในจำนวนนี้มี 67% เป็นหุ้นกู้มีหลักประกันเป็นหุ้นของ MAKRO สภาพคล่องของ CPALL มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 และความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด รวมถึงความสามารถในการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ