โบรกฯเชียร์ "ซื้อ"QH มองกำไรปี 60 ฟื้นหลังหดตัวรอบ 2 ปี รุกแผนเปิดแนวราบ-คุมค่าใช้จ่าย,ลุ้นกำไรพิเศษ H2/60

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 24, 2017 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) หลังมองกำไรสุทธิปีนี้กลับมาฟื้นได้อีกครั้งหลังหดตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ยอดขายรอโอน (Backlog) ปีนี้ไม่มากนัก แต่คาดยอดขายและรายได้จะยังเพิ่มขึ้น จากการเปิดโครงการใหม่ที่เพิ่มขึ้น และเป็นแนวราบถึง 10 โครงการท่ามกลางความต้องการที่ยังคงมีอยู่มาก แม้กำลังซื้อตลาดรวมจะยังไม่ได้เติบโตมากนัก ขณะที่ QH เน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายช่วยหนุนผลประกอบการโดยรวมด้วย

ส่วนการที่ QH จะลดสัดส่วนหุ้นใน บมจ.แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) เหลือราว 13% เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อผลการดำเนินงาน แต่ในทางกลับกันน่าจะทำให้รับรู้รายได้ดีขึ้นจากการที่ LHBANK มีต้นทุนทางการเงินลดลง และมีโอกาสเติบโตได้ดีจากการมีพันธมิตรอย่าง CTBC จากไต้หวันเข้ามา

นอกจากนี้ QH ยังมีโอกาสที่กำไรสุทธิในปีนี้อาจก้าวกระโดดดีกว่าที่คาดหาก QH สามารถรับรู้กำไรพิเศษจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน LHBANK ตามแผนการเพิ่มทุนของ LHBANK ให้กับ CTBC ที่ 2.2 บาท/หุ้น ซึ่งสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้

ขณะที่ราคาหุ้น QH ยัง Laggard และมี Valuation ที่ต่ำ ขณะที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ค่อนข้างสูง ทำให้ยังเป็นที่น่าสนใจในการลงทุน แม้ราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากในช่วงนี้

ราคาหุ้น QH พักเที่ยงอยู่ที่ 2.58 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท (+0.78%) ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.15%

          โบรกเกอร์                      คำแนะนำ               ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)             ซื้อ                        3.20
          ทิสโก้                            ซื้อ                        4.00
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ                Trading Buy                 2.90
          ทรีนีตี้                            ซื้อ                        3.40
          ไอร่า                            ซื้อ                        3.10
          กสิกรไทย                         ซื้อ                        2.90
          เคจีไอ (ประเทศไทย)             Outperform                  2.80
          บัวหลวง                          ถือ                        2.90

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ QH ในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากยอดจองซื้อที่จะเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว ขณะที่มีแผนเปิดโครงการแนวราบปีนี้ถึง 10 โครงการ มูลค่า 1.15 หมื่นล้านบาท แม้โครงการแนวราบจะมีมาร์จิ้นน้อยกว่าคอนโดมิเนียม แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดที่แท้จริงมากกว่าทำให้มีโอกาสที่จะขายได้มากกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น QH ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ขยับตัวมากนัก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะเกิดจากความกังวลต่ออุปทานในตลาดที่มีค่อนข้างมากในช่วงนี้ อีกทั้งดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และจะการบังคับใช้กฎหมายภาษีและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อต้นทุนของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ QH นับว่าอัตราการเติบโตไม่ได้หวือหวามากนัก แต่ก็ยังมี valuation ที่ต่ำ และให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่ดี โดยประเมินในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ในระดับราว 7%

"เรายังคงคำแนะนำ"ซื้อ"หลักๆ มาจากการประเมินราคาหุ้นที่ค่อนข้างถูก และยอดพรีเซลล์เริ่มดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว แม้กำลังซื้อไม่ได้ดีมากนัก ปีที่แล้วบริษัทไม่ได้เปิดโครงการเยอะ และมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ แต่ปีนี้เปิดมาด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่าปีที่แล้ว และราคาหุ้นตอนนี้ก็ Laggard และ valuation ที่ต่ำทำให้ยังน่าสนใจลงทุน"นายอภิชาติ กล่าว

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับการที่ QH จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน LHBANK เหลือ 13.7% จากปัจจุบันที่ถืออยู่ 21.34% หลัง CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC) จากไต้หวันจะเข้ามาถือหุ้นใน LHBANK นั้นเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อ QH มากกว่าแม้ว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง แต่ในแง่ของการรับรู้รายได้น่าจะดีขึ้นในอนาคตจากการที่ LHBANK จะมีต้นทุนทางการเงินลดลง และมีศักยภาพการเติบโตที่ดีจากการมีพันธมิตรใหม่เข้ามา

ด้าน บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า การเติบโตของกำไรหลักของ QH ไม่น่าตื่นเต้นนักในปีนี้ จากแผนธุรกิจที่จะมีการโอนราว 1.96 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% สอดคล้องกับแผนของ QH ที่มีแผนเปิดตัวโครงการราว 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 27% จากฐานต่ำในปีที่แล้ว ขณะที่แผนการลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร(SG&A) นั้น อาจต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะเห็นพัฒนาการที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี QH ยังมีประเด็นบวกที่รอคอยอยู่ คือ เงินปันผลมีโอกาสมากกว่าคาด จากการปรับ payout ratio เพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ yield เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่สูงอยู่แล้วที่ 6.9% และอาจมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการลดสัดส่วนใน LHBANK ลง ซึ่งดีลจะเสร็จสิ้นในช่วงไตรมาส 3/60 ซึ่งคาดจะมีกำไรพิเศษราว 722 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัพไซด์ราว 21% ของประมาณการกำไรในปัจจุบัน

บทวิเคราะห์ของบล.ทรีนีตี้ ระบุว่า QH ตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนหลักจากคอนโดมิเนียม ที่คาดว่าจะมาจากโครงการ Q-Sukhumvit ราว 1.2 พันล้านบาท ขณะที่เป้าหมายรายได้อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยที่จะเป็นรายได้จากคอนโดมิเนียมราว 20% จากการโอนโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ 4 โครงการ

ขณะที่จะเปิดโครงการเปิดตัวใหม่ 10 โครงการ โดยไม่มีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจาก QH ต้องการขายโครงการคอนโดมิเนียมในสต็อกก่อน และ QH จะทำการเปิดโครงการภายใต้ Q-District ที่จะมีการรวมโครงการแนวราบต่าง ๆ มาอยู่ด้วยกัน อาทิ โครงการทาวน์โฮมและบ้านเดี่ยว เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากประหยัดต่อขนาด(Economy of Scales) ในการก่อสร้าง

ถึงแม้ว่าผลประกอบการของ QH ปี 59 จะอ่อนตัวลง และยอด Backlog ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เนื่องจากโครงการแนวราบของ QH เป็นโครงการ Pre-built ทำให้มองว่าเป้ารายได้ปีนี้ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท จึงยังไม่น่าเป็นห่วง และการเปิดตัว Q-District จะมาช่วยสนับสนุนการลดค่าใช้จ่ายลง แต่อย่างไรก็ดีทาง QH ตั้งเป้ารายได้จากส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมอยู่ในระดับเดิม เนื่องจากหากดีล LHBANK สำเร็จจะส่งผลให้มีการรับรู้กำไรลดลง

บล.ไอร่า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลประกอบการของ QH ในปีนี้จะเติบโต 9% หรือมีกำไรสุทธิที่ 3.36 พันล้านบาท จากแผนการส่งมอบ 4 โครงการคอนโดมิเนียมใหม่ ที่มี Backlog รอโอนจำนวน 3.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 17% ของเป้าประมาณการ ขณะที่คาดส่วนที่เหลือจะมาจากการขายโอนโครงการแนวราบที่ QH ถนัดเป็นหลัก โดยคาดแนวโน้มการขายโครงการแนวราบจะเติบโตได้ดีขึ้นจากแผนการเปิด 10 โครงการใหม่ที่เน้นเปิดเป็นโครงการแนวราบบนทำเลกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด มูลค่ารวม 1.15 หมื่นล้านบาท และแผนเปิดตัวโครงการแนวราบในรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ Q District ที่จะรวบรวมแบรนด์ต่างๆ ของ QH มาพัฒนารวมบนที่ดินขนาดใหญ่ผืนเดียว และยังได้ประโยชน์จาก Economy of Scale


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ