กสทช.เร่งวางโรดแมพจัดสรร-ประมูลคลื่นความถี่รองรับเทคโนโลยี 5G สอดรับไทยแลนด์ 4.0

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 29, 2017 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในงานสัมมนา "ผ่าทางตัน 5G คลื่นความถี่นำไทยสู่ 4.0 อย่างยั่งยืน" ว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมาสู่ 5G นับว่าเป็นการตอบสนองกับสิ่งที่เร็วขึ้น เพื่อรองรับปัญหา Traffic jam ของเทคโนโลยี 3G และ 4G

คุณสมบัติของ 5G จะต้องรองรับ 1,500 ล้านยูสเซอร์ให้ได้ รวมถึงสิ่งที่ปัจจุบัน 4G ยังทำได้ไม่ดี เช่น การขับรถอัจฉริยะไร้คนขับ ที่ยังมีความกังวลว่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แต่ใน 5G จะมีการพัฒนาให้มีความไวของระบบเตือนมากขึ้น และในทางการแพทย์ เช่น ระบบรักษานอกโรงพยาบาลด้วยหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์อื่น หรือแม้กระทั่งการกู้ภัย และกู้ระเบิด เป็นต้น ถือว่าเป็นคุณสมบัติใหม่ของ 5G ที่เหนือกว่า 4G จึงมีการประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโทรคมนาคม

สำหรับเรื่องของการเตรียมการเข้าสู่ยุค 5G จะต้องแบ่งเป็นส่วนๆ คือ การวางโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นส่วนของโทรคมนาคม ขณะที่กสทช.เอง ก็จะเป็นในส่วนของการจัดสรรคลื่น ที่จะต้องมีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ และการลงทุนก็จะเป็นในส่วนของผู้ประกอบการค่ายมือถือ รวมถึงการเตรียมประชาชน และอุตสาหกรรม ให้มีการใช้งานจริง ซึ่งจะเป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันต่อไป

ส่วนแผนการวางโรดแมพในขณะนี้ยังไม่ชัดเจน แต่มองว่าการวางโรดแมพถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยี 5G เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 จึงต้องมีความจำเป็นในการวางแผนล่วงหน้า

กรณีของการจัดสรรคลื่นแล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งปัญหาในปัจจุบันนี้ คือ คลื่นส่วนใหญ่อยู่ในมือของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ที่มีการผูกขาดสัมปทานระยะยาว ทำให้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นได้ยาก โดยขณะนี้รัฐาลก็ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้อยู่ ทำให้เกิดการรีฟาร์มมิ่งคลื่นได้เร็วขึ้น และจะเป็นการกำหนด สเปกตรัม โรดแมป ที่จะบอกว่าคลื่นใดจะถูกนำมาใช้ในส่วนของโมบาย และจะสามารถจัดสรรได้ปีไหน อย่างไร

"ที่ผ่านมาเราไม่สามารถจัดประมูลคลื่นก่อนหมดอายุสัมปทานหรือหมดอายุใบอนุญาตได้ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการเยียวยา และไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ จึงเป็นเหตุผลให้เรามีการวางแผนที่จะมีการประมูลคลื่นก่อนหมดใบอนุญาต โดยสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือการใช้ประโยชน์จากคลื่น โดยการจัดสรรคลื่นไม่ให้เกิดขึ้นช่องว่างของการใช้งาน

ขณะเดียวกันการจัดสรรคลื่นจะทำได้ไวนั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือ ไทยยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าเราสามารถปลดล็อกอุปสรรคดังกล่าวได้ ก็จะทำให้สามารถวางแผน 5G ได้อย่างง่ายดาย และในรัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนของพ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ ถ้ายอมให้ กสทช.ดำเนินการ ซึ่งกสทช.จะต้องดำเนินการตามรัฐบาลและ กระทรวงดิจิทัล (DE) ดังนั้นหากรัฐบาล ต้องการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลจริง ต้องกำหนดไว้แผน DE ที่ต้องถูกบังคับให้ทำ เพื่อให้เกิดการเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม"

นายประวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจ 5G สามารถทำให้เกิดการเตรียมการในอนาคตได้ โดยจะสรุปได้ 5 ข้อ คือ การเตรียมความพร้อมเรื่องทรัพยากร ,การเตรียมการเรื่องแผนที่จะรองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ,กฎ กติการ ต่างๆ ,การใช้งานในเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้น และการเตรียมเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในโลกของ 5G จะมุ่งเน้นไปในด้านของระบบรักษาความปลอดภัย ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องของการผลักดันให้เกิดการลงทุนตามมา

ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ความท้าทายของ 5G เทคโนโลยีที่กำลังกำหนดมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยจะผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัล และการเชื่อมอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง กับอุปกรณ์สิ่งของทุกสรรพสิ่ง หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) มาสู่นวัตกรรมใช้ให้เกิดประโยชน์กับคุณภาพชีวิตมากที่สุด โดยทางดีแทคได้เดินหน้าสนับสนุนประเทศไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายและกำหนดนโยบาย, ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ

ขณะที่วิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ได้มุ่งส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน และเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาค โดยดีแทคได้ร่วมมุ่งเน้นที่จะสรรหาแผนงานในอนาคต ซึ่งสามารถปฎิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ภายในปี 63

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลได้ทดลองการนำ IoT มาใช้นำร่องให้เกษตรกรไทยก้าวสู้ความเป็น Smart Farmer ถือเป็นหนึ่งเป้าหมายหลักของดีแทคด้วยการพัฒนาโซลูชั่น IoT เพื่อใช้ในการเพาะปลูก ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ สภาพแสง และปัจจัยที่สำคัญในการเพาะปลูกอื่นๆ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่น ในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้นำร่องโครงการไปแล้ว 2 โครงการเกษตรกร คือ ฟาร์มแตะขอบฟ้า ปลูกมะเขือเทศ เชอรี่ และโคโค่ เมล่อน ซึ่งได้รับผลสำเร็จจากการนำจากการนำ IoT มาใช้งานได้เป็นอย่างดีตามแผนการผลักดันให้เกิดสังคมดิจิทัล และการเปิดให้บริการ 5G ในอนาคต

นอกจากนี้หลายประเทศกำลังเดินหน้าสู่ 5G และประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมสู่ ประเทศไทย 4.0 ที่จะพัฒนาให้ทันกับแนวโน้มของโลก และกำหนดทิศทางมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่หลายสิ่งจะถูกสร้างขึ้นด้วยนวัตกรรมและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รองรับทุกภาคส่วนในประเทศ ความเท่าเทียมที่จะเกิดขึ้นจะลดช่องว่างที่ประชาชนไทยกับธุรกิจกำลังประสบอยู่ ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะเป็นจริงได้ ก็ต่อเมื่อทุกสิ่งในโลกดิจิทัลถูกเชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง สู่นวัตกรรมดิจิทัล โดยการจะพัฒนาสู่ 5G ได้นั้น ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์การจัดสรรคลื่นความถี่อย่างชัดเจนในระยะยาว

"ประเทศไทยควรจะมีแนวทางในเรื่องของช่องสัญญาณที่มากขึ้น และวางแผนจัดสรรคลื่นความถี่ 4G+ ให้ชัดเจน โดยเทคโนโลยีที่สูงขึ้นจะสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ ให้มีการใช้งานที่มีความรวดเร็วมากขึ้น โดยดีแทค ก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวไปสู่เทคโนโลยี 5G"นายลาร์ส กล่าว

อย่างไรก็ตามบริษัทฯมองว่าในปี 63 ประเทศไทยจะต้องก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 5G แต่ก็ยังเป็นกังวลจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะความล่าช้า ซึ่งประเทศไทยจะต้องปลดล็อคอุปสรรคตรงนี้ให้ได้ ขณะที่การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ก็จะต้องมีสนามแข่งขันที่เป็นธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ