ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ 1.6 พันลบ.“ไทยแอร์เอเชีย" ที่ “A-" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 30, 2017 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,600 ล้านบาทของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระคืนหนี้

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน การผสานประโยชน์กับ AirAsia Berhad และบริษัทในเครือ (กลุ่มแอร์เอเชีย) และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรง รวมถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง ความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่าง ๆ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยได้ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าความสามารถในการบริหารต้นทุนและความคล่องตัวในการดำเนินงานจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความผันผวนของฤดูกาลและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินโดยรวมได้ ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่มีในระยะใกล้จากสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมาก หรือภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงกว่าระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัท ไทยแอร์เอเชีย เป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มแอร์เอเชียและเป็นสายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2546 โดยเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง AirAsia Berhad กับ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ในปี 2549 ชิน คอร์ปอเรชั่น ได้ขายหุ้นทั้งหมดของบริษัทให้แก่ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งก่อตั้งโดยคณะผู้บริหารของบริษัทในเวลานั้น

ปัจจุบัน AAV เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นคิดเป็น 55% ของหุ้นทั้งหมด และส่วนที่เหลือ 45% ถือโดย Air Asia Berhad ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 40 เส้นทาง ด้วยจำนวนเที่ยวบิน 423 เที่ยวต่อสัปดาห์ และให้บริการเส้นทางการบินภายในประเทศจำนวน 30 เส้นทาง ด้วยจำนวนเที่ยวบิน 728 เที่ยวต่อสัปดาห์ โดยเส้นทางการบินของบริษัทจากประเทศไทยไปถึงจุดหมายปลายทางอยู่ในระยะเวลาการบิน 4 ชั่วโมงถึง 4.30 ชั่วโมง

กลยุทธ์หลักของธุรกิจสายการบินราคาประหยัดของบริษัทคือการเสนอราคาตั๋วโดยสารในราคาต่ำที่สุดในเส้นทางการบินที่บริษัทให้บริการ บริษัทได้ประโยชน์จากการผสานประโยชน์กับกลุ่มแอร์เอเชียในการร่วมกันจัดซื้อเครื่องบินและน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงการเชื่อมต่อโครงข่ายการบินของกลุ่มแอร์เอเชียเพื่อให้บริการต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ที่มากกว่า

เพื่อตอบสนองต่อความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในการใช้สายการบินราคาประหยัด บริษัทได้เพิ่มความสามารถในการบรรทุกให้มากยิ่งขึ้นโดยมีอัตราการบรรทุกเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยโดยวัดจากจำนวนที่นั่ง-กิโลเมตร (Available Seat Kilometers -- ASK) ที่ระดับปีละ 18% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รูปแบบธุรกิจของบริษัทที่มุ่งเน้นราคาตั๋วโดยสารที่สามารถซื้อได้ง่ายถือว่าเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จโดยจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสาร-กิโลเมตร (Revenue Passenger Kilometers -- RPK) ของบริษัทเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ระดับ 19% ในระหว่างปี 2555 ถึง 2559 และบริษัทมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารสูงกว่า 81% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2559 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทในด้านจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติต่าง ๆ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ระดับ 14.1% ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ที่ระดับ 20%

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทเติบโตโดยเฉลี่ยปีละ 15% โดยรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 19,349 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 32,401 ล้านบาทในปี 2559 อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากเหตุการณ์ภายนอกที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ต่าง ๆ และการแข่งขันด้านราคาอย่างเช่นในปี 2557 ในช่วงปี 2554-2558 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานบริษัทอยู่ที่ระดับ 23%-24% ยกเว้นในปี 2557 ที่อัตราดังกล่าวปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 17% และต่อมาในปี 2559 ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 28% จากอานิสงส์ของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงอย่างมาก

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 บริษัทมีเครื่องบินจำนวน 51 ลำ ซึ่ง 35 ลำอยู่ภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน 14 ลำอยู่ภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน และอีก 2 ลำเป็นเครื่องบินของบริษัทเอง ทริสเรทติ้งจัดให้มูลค่าปัจจุบันของค่าเช่าดำเนินงานของบริษัทเป็นภาระทางการเงิน ซึ่งภาระหนี้ทั้งหมดของบริษัทเมื่อรวมค่าเช่าดำเนินงานแล้วจะอยู่ที่ระดับ 35,952 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านเนื่องจากการซื้อเครื่องบินใหม่ แม้ว่าภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็ปรับลดลงจาก 84% ในปี 2555 เป็น 80% ในปี 2559 จากการสะสมกำไรซึ่งช่วยเพิ่มฐานทุนของบริษัท ในช่วงปี 2560-2562 บริษัทมีแผนจะรับเครื่องบินใหม่เพิ่มอีก 15 ลำ หรือคิดเป็นการรับปีละ 5 ลำ ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนจำนวน 15,500 ล้านบาทสำหรับช่วง 3 ปีดังกล่าว

สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่เข้มแข็งซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการมีเงินสดจำนวนมาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 บริษัทมีเงินสดและทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องจำนวน 6,629 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับการชำระหนี้จำนวน 1,792 ล้านบาทในปี 2560 และยังใช้เป็นเงินสำรองในกรณีที่มีผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4,352 ล้านบาทในปี 2558 และ 4,405 ล้านบาทในปี 2559 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 19.1% ในช่วงปี 2558-2559 ส่วนอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายนั้นก็ปรับตัวดีขึ้นจาก 3.3 เท่าในปี 2558 เป็น 3.8 เท่าในปี 2559

ทริสเรทติ้งเห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อไปโดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าตามแผนการเพิ่มกำลังการบรรทุกผู้โดยสาร โดยคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 25% จากอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารที่อยู่สูงกว่า 83% และราคาเฉลี่ยของน้ำมันเครื่องบินที่อยู่ที่ระดับประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ในขณะที่ภาระหนี้นั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแผนการซื้อเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจะช่วยเพิ่มฐานทุนของบริษัทและจะส่งผลทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับต่ำว่า 80% จากประมาณการของทริสเรทติ้งคาดว่าโดยรวมแล้วอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นที่ระดับประมาณ 20% และอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4.9 เท่าภายในปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ