KBANK เปิดกลยุทธ์ปี 60 เน้นเพิ่มขีดความสามารถรองรับการเติบโต,คาดได้ไฟเขียวยกระดับสาขาแบงก์ในจีนกลางปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 3, 2017 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นวันนี้ ถึงแผนการดำเนินงานของธนาคารในปี 60 ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มการขยายตัวในกรอบจำกัด และมีการแข่งขันในรูปแบบใหม่ ท่ามกลางตลาดการแข่งขันที่กว้างขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอก ดังนั้น ธนาคารก็ได้กำหนดกลยุทธ์ โดยมุ่งเน้นการสร้างขีดความสามารถในการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำเอาเทคโนโลยี รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรและธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน และการยกระดับคุณภาพการขายและการบริการ ซึ่งธนาคารจะดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างครบวงจร และเน้นให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มลูกค้าบรรษัท ,กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ และกลุ่มลูกค้าบุคคล

ส่วนกลยุทธ์ธุรกิจข้ามประเทศ จะมุ่งเน้นขยายการให้บริการเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนของลูกค้า ผ่านทางสาขาหรือสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศ การให้บริการผ่านระบบดิจิทัล และการเชื่อมต่อกับธนาคารพันธมิตร (Partner bank) ในระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นธนาคารหลักของลูกค้าสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ และการชำระเงินข้ามประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 ได้แก่ ประเทศไทย,เมียนมา,มาเลเซีย,อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ ,สิงคโปร์ ,เวียดนาม ,สปป.ลาว ,กัมพูชา และบรูไน รวมถึง จีน,ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการไปลงทุนยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการชำระเงินระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการยกระดับสาขาในสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เป็นธนาคารท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารกสิกรไทยในประเทศจีน ได้ในช่วงกลางปีนี้

นอกจากนี้ประเมินทิศทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 60 เชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อมีโอกาสขยายตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน จากการลงทุนภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนการปลดภาระหนี้ของภาคครัวเรือนบางส่วน จากการสิ้นสุดโครงการรถยนต์คันแรก ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้รายได้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปัญหาคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ยังมีแนวโน้มลดลง หลังเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เริ่มกลับสู่ทิศทางขาขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก และตั๋วแลกเงิน (LTD+B/E) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น น่าจะเป็นแรงกดดันต่อการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย และทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากปีก่อน

ส่วนแนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ คงต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ โดยเฉพาะการเปิดให้บริการโครงการพร้อมเพย์ และการเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นใหม่ๆ อย่างกลุ่มธุรกรรมการชำระเงิน

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 60 คาดว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวได้ในกรอบที่จำกัด เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสหรัฐฯ เป็นอันดับแรก ซึ่งอาจจะมีผลต่อบรรยากาศการค้าโลก อีกทั้งยังมีเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนจากฝั่งสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร และการเลือกตั้งของหลายประเทศในยูโรโซน ซึ่งอาจจะทำให้นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกในปี 60 ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากทิศทางในปี 59 มากนัก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเดินหน้าปรับเปลี่ยนขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางแห่งอื่นๆทั่วโลก อาจจะมีลักษณะที่ผ่อนปรนไปตลอดทั้งปี แม้ว่าทิศทางเงินเฟ้อของบางประเทศจะเริ่มทยอยขยับขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม

ด้านประเทศไทยในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3% ซึ่งจะเป็นการเติบโตได้อย่างสมดุลมากขึ้น จากการส่งออกที่น่าจะได้รับแรงหนุนมากขึ้นจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ขณะเดียวกันการลงทุนของภาคเอกชนก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการเชื่อมโยงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ

ขณะที่ทิศทางนโยบายการเงินของไทย คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ 1.50% ตลอดปี 60 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศไทย อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็น่าจะมีแรงหนุนจากกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดตลอดทั้งปี

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า การลาออกจากตำแหน่งของนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ของ KBANK และประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส- เทคโนโลยีกรุ๊ป (KBTG) จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคาร โดยธนาคารยังคงมุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้กับการให้บริการ ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่สำคัญของ KBTG จะสามารถพัฒนาความสามารถใหม่ๆ ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม KBTG เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธนาคาร สู่การเป็นธนาคารแห่งอนาคตแบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเทคโนโลยี (Business-Technology) และความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศพร้อมนำพาให้ธนาคารสามารถรับมือในทุกมิติจากการเปลี่ยนแปลง (Disruption Force)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ