EA สรุปแผนรุกธุรกิจแบตเตอรี่ พ.ค.นี้แย้มสนใจตั้ง รง.ใหม่ในไทย,เร่งเดินหน้า"หนุมาน"หลังคลายปมเช่าที่ ส.ป.ก.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 11, 2017 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทเตรียมสรุปแผนขยายกิจการธุรกิจอุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) หรือแบตเตอรี่ ภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังจากที่ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท Amita Technologies Inc ประเทศไต้หวันในสัดส่วน 35.20%

หลังจากสรุปแผนงานแล้วจะเดินทางเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารฝั่งไต้หวัน โดยเบื้องต้นจะนำเสนอ 2 แนวทาง คือ การลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานเดิม การบริหารจัดการต้นทุน และการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อทำให้มีต้นทุนสินค้าที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และอาจสร้างโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่เดิม

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือ การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ประเภทลิเทียม-ไอออน โพลิเมอร์ ในประเทศที่มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้

นายอมร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่บริษัทได้ศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ และอยู่ระหว่างรอนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยในวันนี้บริษัทจะร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆเพื่อจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่บริษัทจะนำมาพิจารณาความเป็นไปได้ในการตั้งโรงงานในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

สำหรับโรงงานแบตเตอรี่ในไต้หวันปัจจุบันมีกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ แต่ในปีที่ผ่านมามีอัตราการใช้กำลังการผลิตราว 50% เพราะไม่ได้มีการสร้างตลาดประจำทำให้ผลประกอบการค่อนข้างเหวี่ยง ตามคำสั่งซื้อที่ไม่ได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่บริษัทดังกล่าวยังมีงานรับเหมาก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วย

นายอมร กล่าวว่า บริษัทมองว่าโอกาสทางธุรกิจของสินค้าแบตเตอรี่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะขณะนี้ประเทศต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจกับการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นและมีมาตรการส่งเสริมอย่างชัดเจน ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่เพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่ได้ออกนโยบายมาแล้วทั้งสนับสนุนการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ นอกจากนั้น กลุ่มโรงไฟฟ้าก็มีความต้องการใช้แบตเตอรี่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ยกตัวอย่างโซลาร์ฟาร์มที่ในช่วงกลางวันจะมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบค่อนข้างมาก แต่ช่วงกลางคืนหายไป อาจทำให้สายส่งเกิดความเสียหายได้ ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะนำแบตเตอรี่มาใช้สำรองไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบในช่วงกลางคืนเพื่อให้เกิดเสถียรภาพและไม่ทำให้สายส่งเสียหาย

"ส่วนตัวผมนะ แบตเตอรี่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 2-3 ปีกว่าจะเป็นที่นิยมและประชาชนให้ความเข้าใจ และยอมรับได้ ช่วงที่ผ่ามาเราก็เริ่มเห็นความต้องการใช้มากขึ้น จากราคาที่ปรับลดลงมาและเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ตลาดมีความเป็นไปได้ และมีการสนับสนุนจากภาครัฐค่อนข้างมาก อย่างในจีน ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ขณะที่สิงคโปร์ ภาครัฐก็ได้ประกาศว่าจะติดตั้ง charging station เพื่อผลักดันให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เราเชื่อว่าหากทั่วโลกสามารถผลักดันให้ความนิยมในรถไฟฟ้า การใช้พลังงานทดแทนที่มีเสถียรภาพ ก็จะทำให้ตลาดแบตเตอรี่เติบโตและมูลค่าสูงมาก"นายอมร กล่าว

ด้านธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนนั้น นายอมร กล่าวว่า บริษัทยังมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปีนี้จะมีกำลังการผลิตครบ 404 เมกะวัตต์ ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/60 ที่ผ่านมาได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จากโครงการพลังงานลมที่สงขลาและนครศรีธรรมราช (โครงการหาดกังหัน 1-3) แล้วส่วนหนึ่ง คือ หาดกังหัน 1 กำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมเป็น 314 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลืออีก 90 เมกะวัตต์จะทยอย COD ให้ครบในช่วงไตรมาส 2/60 นี้

ส่วนความคืบหน้าของโครงการพลังงานลมหนุมาน ขนาด 260 เมกะวัตต์ใน จ.ชัยภูมิ บริษัทจะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จและทยอย COD ตามแผนงานหลังจากหมดปัญหาการเช่าที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งทำให้การเริ่มโครงการต้องล่าช้าออกไปบ้าง โดยโรงไฟฟ้าหนุมาน 1 ขนาด 45 เมกะวัตต์ กำหนดจะ COD ในเดือน เม.ย.61 , หนุมาน 5 ขนาด 48 เมกะวัตต์ จะ COD ในเดือน พ.ค.61, หนุมาน 8 ขนาด 45 เมกะวัตต์ จะ COD ในเดือน เม.ย.61 ,หนุมาน 9 ขนาด 42 เมกะวัตต์ จะ COD ในเดือน พ.ค.61 และหนุมาน 10 ขนาด 80 เมกะวัตต์ จะ COD ในเดือน มิ.ย.61

นายอมร กล่าวว่า เรื่องเช่าที่ดิน ส.ป.ก.หลังจากได้พูดคุยแล้วมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา เพราะทาง ส.ป.ก.ยืนยันว่าผู้ที่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับผลกระทบ และจะยึดหลักตามสัญญาเดิม ที่ผ่านมา EA ได้ให้ความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด ทั้งการให้ข้อมูล ตรวจสอบเอกสาร และการตรวจสอบพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องวัตถุประสงค์ที่ชาวบ้านในพื้นที่จะได้ประโยชน์ เช่น การสร้างทางเข้า-ออกให้กับชาวบ้าน เป็นต้น

"การปรับใช้กฎเกณฑ์จะเป็นสำหรับผู้เช่าใหม่ที่จะเข้ามาเท่านั้น ในส่วนของโครงการของเราคงจะต้องมีการเร่งงานเพิ่มเพื่อที่จะให้สามารถ COD ได้ทันตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะมีความล่าช้าออกจากแผนไป 2 เดือน ซึ่งเราเชื่อว่าภายในปี 61 เราจะสามารถ COD โครงการหนุมานได้ทั้งหมด"นายอมร กล่าว

ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างรอความคืบหน้าของภาครัฐที่จะเปิดให้ยื่นขอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รอบใหม่ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ที่เปิดให้ยื่นขอ PPA โดยปัจจุบันบริษัทฯได้เตรียมความพร้อมที่จะยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการพลังงานทดแทนประเภทผสมผสานรูปแบบสัญญาผลิตไฟฟ้าเสถียร(SPP Hybrid-Firm) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปิดให้ยื่นขอ PPA ในปีนี้

พร้อมกันนั้น บริษัทฯยังมองโอกาสที่จะออกไปขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในต่างประเทศ ทั้งในเวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และฟิลิปปินส์ โดยจะเน้นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะมองประเทศที่มีเป้าหมายและแผนชัดเจนในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

นายอมร กล่าวว่า บริษัทได้มีการเข้าไปเจรจาหาพันธมิตรรองรับไว้แล้ว หากภาครัฐในประเทศนั้นๆ มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงาน บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าไปศึกษาและลงทุนทันที

"ตอนนี้เราก็ต้องรอความชัดเจนของภาครัฐในประเทศไปก่อน เพราะในตอนนี้ประเทศอื่นๆ ก็ยังไม่ได้มีแบบแผนการพัฒนาพลังงานที่ชัดเจน วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ต่างๆ ก็ต่างจากเรา จะให้ไปลงแล้วเกิดความเสี่ยงมากๆ เราคงจะไม่ทำ และหากไปแค่โครงการเล็กๆ เราก็คงไม่ทำเช่นกัน แต่หากเมื่อไหร่ที่ภาครัฐในประเทศนั้นๆ ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับแบบแผนขยาย เราก็พร้อม แต่เราคงขอเน้นในเทคโนโลยีที่เราถนัด คือ โครงการลมกับแดด"นายอมร กล่าว

นายอมร ยังกล่าวถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลว่า บริษัทจะกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้นในขณะนี้ โดยอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำน้ำมันปาล์มไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากไบโอดีเซล เพื่อเพิ่มอัตรากำไรให้กับธุรกิจนี้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 1-2 ปีจากนี้

สำหรับแนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 60 คาดว่ากำไรจะเติบโตทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้จากกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่จังหวัดพิษณุโลก ขนาดกำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ และจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราชกำลังการผลิต 126 เมกะวัตต์ (โครงการหาดกังหัน 1-3) เข้ามาทั้งหมดในช่วงครึ่งปีแรก

"แนวโน้มผลประกอบการทั้งในช่วงไตรมาส 1/60 จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และดีกว่าไตรมาส 4/59 ตามการรับรู้รายได้ของโรงไฟฟ้าที่ COD เข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้เราจะมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 404 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง"นายอมร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ