THAI เร่งปรับระบบขายตั๋วดัน yield ฟื้นใน H2/60 หลังรายได้ 2 เดือนพลาดเป้า,จัดหารือ TG GROUP นัดแรกปลายเม.ย.ร่วมวางนโยบาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 20, 2017 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า รายได้ในงวด 2 เดือนแรกต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบการแข่งขันราคาสูง ทำให้ทำราคาขายตั๋วได้ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม บริษัทได้นำระบบบริหารรายได้ ได้แก่ ระบบการบริหารราคาขายบัตรโดยสารอัตโนมัติ ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายได้ประมาณ 1 พันล้านบาทในช่วงเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การปรับลดค่าใช้จ่ายทำได้ดีขึ้น

"ผู้โดยสารเยอะจริง แต่รายได้ต่ำกว่าเป้า yield ต่ำ ขายตั๋วราคาถูก เพราะเราจะขายมากกกว่าคู่แข่งก็ไม่ได้ ซึ่งเราก็มีแผนรองรับในช่วง low season จะมีการออกแคมเปญและมีการจำหน่ายตั๋วโดยสารในราคาพิเศษ ทาง คนร.บอกกว่าตอนนี้ให้ทำรายได้เพิ่ม รายจ่ายไม่ต้องลดแล้ว"นางอุษณีย์ กล่าว

ทั้งนี้ THAI ระบุว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.60 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ที่เฉลี่ย 83.5% สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 78% แต่จำนวนผู้โดยสารทรงตัวที่ 3.26 ล้านคน

นางอุษณีย คาดว่า รายได้จากผู้โดยสารต่อหน่วย (yiled) ในช่วงครึ่งหลังปี 60 จะดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากระบบของบริษัทจะสามารถปรับราคาขายได้ทันสถานการณ์ตลาด โดยใช้เวลาลดลงเหลือ 1-2 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ทำให้การขายมีความคล่องตัวมากขึ้น และพนักงานจะได้รับการอบรมการใช้ระบบการขายตั๋วให้สามารถะใช้งานได้คล่องมากขึ้น

อนึ่ง ในปี 59 บริษัทมี yiled เฉลี่ย 2.35 บาท/คน-กม.ลดลงจากปี 58 ทีเฉลี่ยเท่ากับ 2.46 บาท/คน-กม.

นายอุษณีย์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังเดินหน้ากลยุทธ์ TG GROUP ภายใต้ความร่วมมือ 3 สายการบิน คือ สายการบินไทย สายการบินไทยสมายล์ และ สายการบินนกแอร์ (NOK) ที่จะร่วมมือด้านการตลาด โครงข่ายการบิน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน อาทิ ศูนย์ซ่อมบำรุง การบริการภาคพื้นดินเป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทได้รับรายงานว่าทั้ง 3 สายการบินจะเริ่มการหารือครั้งแรกในปลายเดือน เม.ย.นี้ เพื่อวางนโยบายร่วมกันอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมร่วมมือระหว่างกันบนเที่ยวบินร่วม(Codeshare) กับสายการบินนกแอร์ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเชื่อมต่อเส้นทางบินกันได้ง่ายขึ้น

ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกข์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและบัญชี THAI คาดว่าในช่วงไตรมาส 1/60 บริษัทจะไม่มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็ยังต้องติดตามค่าเงินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และการบินไทยมีรายจ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นจะทำให้รายจ่ายเพิ่มขึ่น ขณะที่รายรับเป็นเงินสกุลเงินยูโรและเงินเยนที่ขณะนี้อ่อนค่า เมื่อแปลงเป็นเงินบาทจะได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทแปลงหนี้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสวิสฟรังก์ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ราว 600 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่บริษัทก็จะมีเงินกู้เพิ่มขึ้นจากการซื้อเครื่องบิน 2 ลำ คือ แอร์บัส 350 ซึ่งมีกำหนดรับมอบ 1 ลำในวันที่ 21 เม.ย.นี้

สำหรับรายจ่ายค่าน้ำมันนั้น บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยง (hedging) สำหรับครึ่งปีแรกแล้วประมาณ 62-63% ของปริมาณการใช้น้ำมัน ในราคาเฉลี่ย 40-60 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนครึ่งหลังปี 60 ทำไว้ที่ 49% ในระดับราคาใกล้เคียงกัน และได้ทำ Hedging ของปีหน้าไว้แล้วราว 12% ขณะที่นโยบายบริษัทสามารถทำ Hedging ได้ถึง 80% ของปริมาณการใช้น้ำมัน

นายณรงค์ชัย ยังกล่าวในฐานะกรรมการ และคณะทำงานยุทธศาสตร์และวางแผนระยะยาว ของ บมจ.บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ว่า NOK ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (Turnaround) คาดว่าจะใช้เวลา 3 เดือนหรือสรุปในราวเดือน ก.ค.นี้ สิ่งสำคัญที่ NOK ต้องพิจารณาเร่งด่วนคือสภาพคล่องของบริษัท และเงินกองทุนของบริษัท ซึ่งล่าสุดที่ NOK เพิ่มทุนเพื่อไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเห็นว่ามีสัญญาณที่ส่วนของผู้ถือห้นจะติดลบ รวมทั้งเรื่องการลดค่าใช้จ่าย เพราะขณะนี้ค่าใช้จ่ายของ NOK สูง

ขณะนี้ NOK อยู่ระหว่างการเจรจากับคู่ค้าเพื่อให้เกิดความร่วมมือในทุกด้าน ได้แก่ ซ่อมบำรุง บริการภาคพื้นดิน เป็นต้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ คณะทำงานยุทธศาสตร์และวางแผนระยะยาวที่จัดตั้งเมื่อเดือน ต.ค.59 จะเข้ามาช่วยพิจารณาการเพิ่มทุน การหาพันธมิตรธุรกิจ (Strategic Partner) เพื่อต้องการให้มีฝูงบินระยะไกล โดยขณะนี้ได้เจรจาพันธมิตร 3-4 รายจากจีนทั้งที่อยู่ในธุรกิจสายการบิน และไม่ใช่ธุรกิจสายการบิน โดยความร่วมมืออาจจะเป็นการทำ Codeshare หรืออาจจะเข้ามาถือหุ้น NOK ก็เป็นไปได้

นายณรงค์ชัย เปิดเผยอีกว่า NOK ยังมีแผนเพิ่มฝูงบินอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 60-64 อีก 10 ลำ โดยในปี 60 จะเพิ่มเข้ามา 2 ลำเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 737 แต่จะปลดระวางโบอิ้ง 737 ออกไป 3 ลำ จากนั้นในปี 61 จะเพิ่มเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 2 ลำ และในปี 62 เพิ่มเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินใบพัด Q-400 จำนวน 2 ลำ ส่วนในปี 63 เพิ่มเครื่องบินใบพัด Q-400 อีก 1 ลำ และปี 64 เพิ่มเครื่องบินใบพัด Q-400 อีก 1 ลำ ทำให้สิ้นปี 64 NOK จะมีฝูงบินทั้งหมด 38 ลำ

ร.อ.อ.มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน THAI กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่ง THAI ร่วมมือกับแอร์บัส คาดว่าจะสรุปผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเบื้องต้นภายใน 3 เดือนจากนี้ หรือประมาณเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งจะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคม หรือหาก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีผลแล้วก็จะส่งให้คณะกรรมการ EEC พิจารณา

ส่วนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของ THAI นั้น ร.อ.อ.กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจการองค์กร THAI กล่าวว่า กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ผ่านรอบแรกจะเริ่มต้นในเดือน พ.ค.นี้ จากนั้นคาดว่าจะสรุปผลเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาและจะมีการเจรจาอัตราผลตอบแทนต่อไป

อนึ่ง ผู้ผ่านคุณสมบัติล่าสุด 4 รายได้แก่ 1.นายดนุช บุนนาค ที่ปรึกาษกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI 2. นายวิสิฐ ตันติสุนทร กรรมการ สายการบินนกแอร์ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 3.นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บมจ.ทีโอที และ นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)


แท็ก การบินไทย   (THAI)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ