(เพิ่มเติม) GGC ทุ่ม 1.65 พันลบ.สร้างรง.เมทิลเอสเทอร์แห่ง 2 เริ่มผลิต Q4/61 ช่วยลดต้นทุน,เดินหน้าไบโอคอมเพล็กซ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 27, 2017 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานกรรมการ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) เปิดเผยว่า บริษัทใช้งบลงทุน 1,650 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 30 ไร่ ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น มีกำลังการผลิต 200,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/61 และหากรวมกับโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 1 ที่ จ.ระยอง GGC จะสามารถผลิตเมทิลเอสเทอร์ได้ถึง 500,000 ตัน/ปี

นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ GGC กล่าวว่า การเดินเครื่องของโรงงานเมทิลเอสเตอร์ (ไบโอดีเซล) แห่งที่ 2 เมื่อรวมกับโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งแรกใน จ.ระยอง จะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 5 แสนตัน/ปี และจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ราว 120-150 ล้านบาท/ปี จากโรงงานใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าและช่วยต้นทุนด้านการขนส่งผลิตภัณฑ์ด้วย

ปัจจุบันความต้องการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ราว 4 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตของทั้งประเทศอยู่ที่ราว 6.4 ล้านลิตร/วัน แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตจะมีมากกว่าความต้องการใช้ แต่ในส่วนของบริษัทใช้อัตราการผลิตเต็มที่โดยมีกำลังการผลิต 3 แสนตัน/ปี หรือราว 1 ล้านลิตร/วัน และยังต้องจ้างผลิตจากภายนอกอีกราว 35,000 ตัน/ปี คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ระดับ 27% สูงสุดเป็นอันดับ 1

เมื่อโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งใหม่แล้วเสร็จจะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนตัน/ปี หรือราว 1.8 ล้านลิตร/วัน แม้ความต้องการใช้ไบโอดีเซลจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจากปัจจุบันหากรัฐบาลยังคงสนับสนุนการเติมไบโอดีเซล 7% ในน้ำมันดีเซล (B7) อยู่ก็ตาม แต่บริษัทก็จะหันมาเดินเครื่องหลักที่โรงงานแห่งใหม่ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนการผลิตได้ดีซึ่งคุ้มค่ากับการลงทุน

นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาการต่อยอดด้วยการตั้งโรงงานผลิตกลีเซอรีน มูลค่า 500-800 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยา สารให้ความหวาน ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยส่วนบุคคล โดยใช้เมทิลเอสเทอร์และแฟตตี้ แอลกอฮอล์ เป็นวัตถุดิบผลิตกลีเซอรีน ซึ่งปลายปีนี้น่าจะสรุปรายละเอียดนำเสนอคณะกรรมการบริษัทและเริ่มดำเนินโครงการได้ในปีหน้า

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังเตรียมเดินหน้าโครงการไบโอคอมเพล็กซ์จากอ้อย ในจ.นครสวรรค์ มูลค่า 8.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือกับบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ฝ่ายละ 50% โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างรอการเสนอราคาก่อสร้างจากผู้รับเหมา ขณะที่ได้ยื่นขอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว ก่อนจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดเสนอคณะกรรมการบริษัทในปลายปีนี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างในปีหน้า คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการในเดือนม.ค.63

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาไบโอคอมเพล็กซ์ระยะแรก ซึ่งจะประกอบด้วย โรงไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ โรงหีบอ้อย 2 หมื่นตัน/วัน และโรงเอทานอล 6 แสนลิตร/วัน โดย KTIS จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อรองรับการลงทุน และในระยะต่อไปเมื่อมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (ไบโอพลาสติก) ต่อไปในอนาคตด้วย

"ตอนนี้เมื่อเงื่อนไขต่างๆ ครบถ้วนก็จะนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในช่วงปลายปีนี้ เริ่มก่อสร้างปีหน้า ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี เฟสถัดไปเมื่อมีอ้อยเพิ่มขึ้นก็จะพัฒนาเป็นไบโอพลาสติก ตอนนี้สถานการณ์น้ำมันเป็นแบบนี้ การพัฒนาไบโอพลาสติกยังต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้เราก็เตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้ก่อน"นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ดังกล่าวจะนำเสนอตามแผน Bio Economy ต่อคณะกรรมการสานพลังงานประชารัฐชุดเศรษฐกิจฐานขีวภาพในเดือน พ.ค.นี้

ทั้งนี้ บริษัทเป็นหนึ่งในทีมงาน Bio Economy ซึ่งมีกลุ่มโรงงานน้ำตาลอยู่ร่วมด้วย 2 กลุ่ม คือ KTIS และกลุ่มมิตรผล ซึ่งรัฐบาลจะส่งเสริม Bio Economy ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ขอนแก่น ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมไหนจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งแต่ละที่ก็มีขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละอุตสาหกรรม

โดยใน จ.ขอนแก่นยังเปิดเป็นทางเลือกว่าจะเกิดอุตสาหกรรมใด เช่น อาหาร ยา ซึ่งบริษัทก็หารือกับทางมิตรผลเช่นกัน แต่เบื้องต้นทางมิตรผลต้องการทำคอมเพล็กซ์ของกลุ่มมิตรผล ซึ่งบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมหากมีอุตสาหกรรมตรงกัน

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ GGC สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย โดยมีนักลงทุนจองซื้อเข้ามามากกว่าจำนวนที่เสนอขาย และเชื่อว่าด้วยพื้นฐานบริษัทที่แข็งแกร่ง และธุรกิจที่เป็นขาขึ้นจากการสนับสนุนของภาครัฐ และความต้องการใช้แฟตตี้ แอลกอฮอล์ที่มีมากขึ้นจากราคาปาล์มต่ำ ทำให้มั่นใจว่าหุ้นที่เข้าไปในตลาดจะมีการเติบโตได้

อนึ่ง GGC เป็นเรือธง (Flag Ship) ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล ( PTTGC )ในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมีความเข้มแข็งในส่วนของธุรกิจปาล์มเป็นหลัก แต่ในอนาคตจะขยายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อต่อยอดเป็นไบโอพลาสติก รองรับการเกิดไบโอคอมเพล็กซ์ในอนาคต ที่มีฐานวัตถุดิบจากพืชเกษตรทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง จากปัจจุบันที่ GGC มีรายได้หลักราว 60% มาจากธุรกิจไบโอดีเซล และ 40% มาจากแฟตตี้แอลกอฮอล์

GGC ขายหุ้น IPO ไม่เกิน 246,666,700 หุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท คิดเป็นประมาณ 25% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด เสนอขายในราคาหุ้นละ 11.20 บาท จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 2 พ.ค.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ