(เพิ่มเติม) CK เผยมี Backlog ราว 8.5 หมื่นลบ. ลุ้นได้งานเพิ่มอีกกว่า 5 หมื่นลบ.,ออกหุ้นกู้กลางปี 60

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 28, 2017 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวสุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ช.การช่าง (CK) เปิดเผยต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า ขณะนี้บริษัทมีงานในมือ (Backlog) ที่รอรับรู้รายได้ราว 85,231 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นงานระบบราง 55% ที่เหลือเป็นงานโรงไฟฟ้า 34% งานอาคารและอื่นๆ 7.6% งานถนนและทางด่วน 3%

ตั้งแต่ต้นปี 60 จนถึงขณะนี้บริษัทได้ลงนามสัญญางานใหม่แล้ว 2.89 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีงานใหม่เข้ามาเป็น Backlog อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้า (BEM)ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้งานเดินรถ มูลค่างานราว 2.2-2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งรอลงนามสัญญาในเร็วๆนี้

กรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าว่า บริษัทยังมีโอกาสได้งานใหม่เข้ามาอีก เพราะในช่วงปี 60-61 ภาครัฐมีโครงการก่อสร้างพื้นฐานออกมาประมูลจำนวนมาก ทำให้บริษัทมีโอกาสจะทำให้มูลค่างานมือของบริษัทแตะระดับ 1 แสนล้านบาทได้ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีแผนปฏิบัติการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan)ปี 60 มีจำนวน 36 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 9 แสนล้านบาท ต่อเนื่องจากปี 59 ที่มีมูลค่าโครงการตาม Action Plan จำนวน 1.77 ล้านล้านบาท ทำให้ CK มีโอกาสได้งานใหม่ซึ่งบริษัทมั่นใจได้งาน เพราะมูลค่างานที่ออกประมูล สัดส่วน 70% เป็นงานระบบรางซึ่งเป็นงานที่ CK มีความถนัด

โดยในครึ่งแรกของปีนี้ จะมีงานประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนในครึ่งหลังปี 60 จะมีการเปิดประมูลรถไฟทางคู่อีก 6-7 เส้นทาง นอกจากนี้จะมีประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 และรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา และช่วงสมุทรปราการ-บางปู

สำหรับโครงการที่คาดเปิดประมูลในช่วงครึ่งหลังปี 60-ปี 61 ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยาย (ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท) หรือ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ โครงการมอเตอร์เวย์สายสายนครปฐม-ชะอำ ทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมี โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (ECC) CK สนใจเข้าไปประมูลงานก่อสร้าง รวมทั้งโครงการลงทุน CK เตรียมพร้อมรับโอกาสที่กำลังมา ทั้งร่วมประมูลงานก่อสร้างและการลงทุน ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะมีส่วนแบ่งงานในสัดส่วน 20-25% ของมูลค่างานที่ออกมาทั้งหมด โดยปี 59 CK ได้งานใหม่ 5.2 หมื่นล้านบาท เป็นงานรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒธรรม-มีนบุรี มูลค่า 2.8 หมื่นล้านบาทและงานของกรมทางหลวง 3 สัญญา 2.4 หมื่นล้านบาท

นางสาวสุภมาส คาดว่า รายได้ปี 60 ประมาณ 3 - 3.5 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้ 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีก่อนมีงานพิเศษของโครงการพลังงานน้ำไซยะบุรี 1.9 หมื่นล้านบาทและรับรู้รายได้ในไตรมาส 2/59 จำนวน 1 หมื่นล้านบาท แต่งานส่วนนี้มีมาร์จิ้นต่ำ จึงฉุดอัตรากำไรขั้นต้น(Gross Profit Margin) ในปีก่อนที่ระดับ 7.08% อย่างไรก็ตามในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นเท่าระดับปกติที่ 8-10%

"ปีนี้ผลประกอบการจะกลับมาปกติ รายได้จากก่อสร้างประมาณ 3-3.5 หมื่นล้านบาท Gross Profit Margin จะกลับมาดีปกติที่ประมาณ 8-10%" กรรมการผู้จัดการใหญ่ CK กล่าว

ทั้งนี้ CK มีสัดส่วนกำไรจากรายได้งานก่อสร้าง 50% และอีก 50% มาจากกำไรของบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจในสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ BEM ที่ถือหุ้น 29.73% บมจ.ทีทีดับบลิว ถือหุ้น 19.40% และ บมจ.ซีเค พาเวอร์ (CKP) สัดส่วน 28.77%

ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานปฏิบัติการ ของ CK กล่าวว่า โครงการใน EEC ทางบริษัทมองว่ามีโอกาสสูงทั้ง CK และ BEM ในการทำโครงการระบบราง รวมทั้งงานก่อสร้างในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง โรงไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ CK พร้อมลงทุนในโครงการใหม่ และมีศักยภาพการเงินพร้อมลงทุน ขณะที่มีแผนศึกษากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนจะสามารถระดมทุนผ่านกองทุนนี้ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะบริษัทยังมีความสามารถก่อหนี้ในรูปเงินกู้ และหุ้นกู้ได้ โดยบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.3 เท่า จากนโยบาย 3 เท่า

นายประเสริฐ มริตตนะพร กรรมการบริหาร CK กล่าวว่า ต้นทุนการเงินของบริษัทปัจจุบันเฉลี่ยน 3.5% และยังมีวงเงินออกหุ้นกู้อีก 7-8 พันล้านบาท จากที่ขอวงเงินหุ้นกู้กับผ้ถือหุ้นไว้ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงกลางปีนี้ มีแผนจะออกหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งจะออกมาเพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน จำนวน 4 พันล้านบาทและมีแผนนำเงินไปคืนเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ