ฟิทช์ ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต BAY-อีซี่บาย เป็น ‘มีเสถียรภาพ’ จากเดิม "เป็นลบ"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday May 9, 2017 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และ บมจ.อีซี่บาย (EB) เป็นแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพจากเดิมแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ BAY ที่ ‘A-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EB ที่ ‘AA+(tha)’ ในส่วนอันดับเครดิตอื่นของทั้ง BAY และ EB นั้นไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศอันดับเครดิตในครั้งนี้

การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่ของ BAY ซึ่งคือ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ Ltd. (BTMU) และบริษัทแม่ของ EB ซึ่งคือ ACOM Co., LTD. (ACOM) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 (ตามรายงาน Fitch Revises Outlooks for Japanese Major Banks to Stable; Upgrades VR of MHFG) หลังจากแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศญี่ปุ่นได้รับการปรับเป็นแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 (ตามรายงาน Fitch Revises Outlook on Japan to Stable; Affirms at 'A'

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต ประกอบด้วย อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BAY และอันดับเครดิตภายประเทศระยะยาวของ EB มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ฟิทช์มองว่าทั้ง BAY และ EB เป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อบริษัทแม่ ซึ่งคือ BTMU และ ACOM ตามลำดับ โดยสะท้อนได้จากสัดส่วนการถือหุ้นในระดับสูงของบริษัทแม่ในบริษัทลูกแต่ละแห่งและการมีอำนาจในการควบคุมการบริหารงานในบริษัทลูก การผสานการบริหารงานและดำเนินงานระหว่างบริษัทลูกกับบริษัทแม่ (integration) รวมทั้งการที่บริษัทแม่มีการให้การสนับสนุนแก่บริษัทลูกในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นฟิทช์จึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทแม่ทั้ง 2 แห่ง จะให้การสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานปรกติ (extraordinary support) แก่บริษัทลูกของตนเอง ในกรณีที่มีความจำเป็น

แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ BAY และ EB สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของบริษัทแม่

ขณะที่ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ได้แก่ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BAY ไม่น่าจะได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากปัจจุบันอันดับเครดิตดังกล่าว อยู่ในระดับเดียวกันกับเพดานอันดับเครดิต (Country Ceiling) ของประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารแม่ (BTMU) น่าจะส่งผลในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ BAY

การเปลี่ยนแปลงในอันดับเครดิตหรือโครงสร้างเครดิตโดยรวมของ ACOM น่าจะส่งผลกระทบไปในทิศทางเดียวกันต่ออันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ EB

นอกจากนี้สัญญาณที่บ่งชี้ถึงโอกาสที่น้อยลงในการได้รับการสนับสนุนพิเศษที่นอกเหนือจากการดำเนินงานปรกติจากบริษัทแม่ อาจส่งผลให้อันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทลูกถูกปรับลดอันดับ ตัวอย่างเช่น การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทแม่ในบริษัทลูก หรือการลดลงของระดับการให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะปานกลาง

อันดับเครดิตอื่นของ BAY ที่ไม่ได้รับผลกระทบมีดังนี้

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’

- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘bbb’

- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘1’

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘AAA(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (ตามเกณฑ์บาเซล 2) ที่ ‘AA+(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน (ตามเกณฑ์บาเซล 3) ที่ ‘AA+(tha)’

อันดับเครดิตอื่นของ EB ที่ไม่ได้รับผลกระทบมีดังนี้

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่ ‘AA+(tha)’


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ