PTTEP เจรจาเชฟรอนร่วมประมูลแหล่งเอราวัณ,รับเงื่อนไข ก.พลังงาน รักษาระดับผลิตก๊าซฯบงกชถึงปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 18, 2017 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เดินหน้าเข้าประมูลปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่ใกล้จะหมดอายุสัมปทาน โดยเจรจากลุ่มเชฟรอนประมูลร่วมกันในแหล่งเอราวัณ แต่หากสรุปไม่ได้พร้อมเข้าประมูลเองทั้งหมด พร้อมทั้งปรับแผนการผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งบงกช เพื่อคงระดับการผลิตที่ราว 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วันต่อเนื่องจนถึงปี 63 จากเดิมที่จะต้องทยอยลดลงช่วงเข้าใกล้สิ้นสุดสัมปทานในปี 65-66 เนื่องจากบริษัทบรรลุเงื่อนไขการซื้อขายก๊าซฯกับกระทรวงพลังงาน และบมจ.ปตท. (PTT) และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุการประมูลแหล่งบงกชอาจมีราคาต่ำกว่าปกติ เป็นผลจากการเจรจากับ PTTEP เพื่อคงระดับการผลิตก๊าซฯถึงปี 63 ด้วยการดึงการผลิตก๊าซฯในช่วงสุดท้ายของอายุสัมปทานมาผลิตในช่วงก่อนถึงปี 63 ทำให้แหล่งบงกช อาจเหลืออายุอีกเพียง 8 ปีจากเดิมที่จะประมูลแล้วสามารถผลิตก๊าซฯได้อีก 10 ปี ขณะเดียวกันเดินหน้าเจรจากับกลุ่มเชฟรอน เจ้าของสัมปทานแหล่งเอราวัณ เพื่อขอคงอัตราการผลิตก๊าซฯเช่นเดียวกับ PTTEP แต่ยังไม่ได้ข้อยุติหลังเชฟรอนต้องการให้เกิดการประมูลแหล่งปิโตรเลียมก่อน

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ PTTEP กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 65-6 เนื่องจากในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ที่ราคาน้ำมันต่ำบริษัทได้ปรับกลยุทธ์จนสามารถทำให้ต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ลดลงถึง 30%

บริษัทสนใจเข้าร่วมประมูลแหล่งเอราวัณที่ปัจจุบันมีกลุ่มเชฟรอนเป็นเจ้าของสัมปทานอยู่ โดยเจรจากับกลุ่มเชฟรอนให้ร่วมกันยื่นประมูลในรอบใหม่ โดยอาจจะเป็นรูปแบบของการตั้งบริษัทใหม่ร่วมกันเพื่อเข้าประมูล ซึ่งอาจจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่เพียง 5% ในโครงการคอนแทร็ค 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในแปลงของแหล่งเอราวัณ หรืออาจจะเข้าประมูลโดยบริษัทเอง

"แหล่งเอราวัณ มีกลุ่มเชฟรอน เป็นผู้รับสัมปทาน บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในแหล่งดังกล่าว ก็ได้พยายามสรุปแนวทางร่วมกันกับผู้ร่วมทุนปัจจุบันอยู่ เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการ joint bid ร่วมกัน ณ วันนี้เราต้องคุยกันให้มี term condition ที่เรารับได้ ที่เราจะสรุปว่าเราจะ bid ร่วม หรือเราจะ bid ต่างหาก"นายสมพร กล่าว

ส่วนการประมูลแหล่งบงกชที่บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน และมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว บริษัทก็จะใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่เพื่อเตรียมเข้าประมูล ซึ่งน่าจะทำให้บริษัทสามารถแข่งขันในการประมูลครั้งนี้ได้ดี

นายสมพร เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้บริษัทได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจากับกระทรวงพลังงานเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการก๊าซฯในอ่าวไทยเพื่อให้มีการผลิตต่อเนื่องรองรับสภาวะวิกฤตก๊าซฯปี 64-66 โดยบริษัทจะมีการปรับแผนด้วยการลงทุนเพิ่มแท่นผลิตและหลุมเจาะ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าปริมาณก๊าซฯจะไม่ลดลงมากในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยเบื้องต้นบริษัท ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานในแหล่งบงกช จะยังคงรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯที่ 900 ล้านลบ.ฟ./วัน ต่อเนื่องจนถึงปี 63 โดยได้รับผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม

"ณ วันนี้มีการปรับแผนที่จะดำเนินการบางส่วน ซึ่งสามารถทำให้เราผลิตก๊าซฯจากแหล่งบงกชได้ด้วยอัตราปัจจุบันต่อไปอีก 2-3 ปี ถึงปี 62-63 ก็มีการปรับเงื่อนไขการซื้อขายที่สามารถทำให้ลงทุนได้ในระยะเวลานี้ เป็นเงื่อนไขทั้งกับกรมเชื้อเพลิงฯ และปตท.ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯด้วย ก็จะต้องมีบางส่วนที่เราได้ผลตอบแทนที่สูง เพื่อให้ Balance กัน"นายสมพร กล่าว

อนึ่ง การผลิตก๊าซฯจากแหล่งบงกช คิดเป็นราว 25% ของกำลังผลิตรวมของ PTTEP และสร้างรายได้ราว 25% ของรายได้ PTTEP ขณะที่แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 ซึ่งตามสัญญาแล้วผู้ผลิตก๊าซฯจะทยอยลดการผลิตลงในช่วงก่อนหมดอายุสัมปทาน จากปัจจุบันที่การผลิตก๊าซฯจากทั้ง 2 แหล่งมีปริมาณรวม 2.1 พันล้านลบ.ฟ./วัน หรือราว 40% ของความต้องการใช้ก๊าซฯของประเทศ

ขณะที่การเปิดประมูลใหม่สำหรับทั้ง 2 แหล่งยังมีความล่าช้า ทำให้รัฐบาลกังวลว่าจะไม่เกิดความต่อเนื่องของการผลิตก๊าซฯและจะนำมาซึ่งจะนำมาซึ่งวิกฤตก๊าซฯปี 64-66 เพราะก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

นายสมพร กล่าวว่า สำหรับเงินลงทุนที่จะต้องใช้เพื่อรักษาการผลิตก๊าซฯจากแหล่งบงกชให้มีความต่อเนื่องนั้นได้มีการมีการพิจารณาไว้แล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอาจจะเกี่ยวข้องกับการจะเข้าร่วมประมูลแหล่งปิโตรเลียมครั้งนี้ด้วย

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ของแหล่งบงกช และเอราวัณ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เบื้องต้นคาดว่าจะออก TOR ได้ภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค. และใช้เวลาหลังจากนั้นอีก 6-7 เดือนเพื่อคัดเลือกผู้ชนะประมูลให้แล้วเสร็จคาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 61 ล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นมีผู้สนใจทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงจีน ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามกรมฯได้เตรียมแผนบริหารจัดการเพื่อรองรับสภาวะวิกฤตก๊าซฯปี 64-66 โดยเบื้องต้นได้เจรจากับ PTTEP เพื่อคงระดับการผลิตในแหล่งบงกช จนถึงปี 63 โดยเป็นการนำก๊าซฯในช่วงสุดท้ายของการผลิตมาคำนวณเพื่อใช้ผลิตในช่วงนี้ก่อน ทำให้การเปิดประมูลแหล่งบงกชจากเดิมที่จะมีปริมาณสำรองก๊าซฯเพื่อผลิตต่อได้อีก 10 ปีก็อาจคงเหลือเพียง 8 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ราคาประมูลของแหล่งบงกช อาจจะต่ำกว่าแหล่งเอราวัณ ส่วนราคาก๊าซฯในส่วนเพิ่มที่ให้ PTTEP คงระดับการผลิตนั้นจะเพิ่มขึ้นราว 1-2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งกรณีนี้ได้หารือร่วมกันระหว่าง PTTEP และ PTT เรียบร้อยแล้ว

รวมถึงยังได้เจรจากับกลุ่มเชฟรอน ในแหล่งเอราวัณด้วย แต่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากกลุ่มเชฟรอนต้องการให้การประมูลแหล่งปิโตรเลียมเสร็จเรียบร้อยก่อน อย่างไรก็ตามทางกรมฯก็จะยังคงเจรจากับกลุ่มเชฟรอนต่อไป

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้เจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งแต่ละฝ่ายจะรับก๊าซฯจากแหล่งผลิตตามสัดส่วนฝ่ายละครึ่งนั้น ก็จะเจรจาเพิ่มการรับก๊าซฯในส่วนของไทยอีก 120 ล้านลบ.ฟ./วัน ซึ่งเป็นการนำก๊าซฯที่ไทยจะได้รับออกมาใช้ก่อน หรืออาจจะเจรจาเพื่อของซื้อก๊าซฯในสัดส่วนของมาเลเซียมาใช้ ตามราคาที่ตกลง เพื่อให้ผ่านพ้นในช่วงวิกฤตก๊าซฯดังกล่าว อย่างไรก็ตามกรณีนี้จะต้องรอความชัดเจนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะยืนยันแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ โรงที่ 3 ขนาดราว 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีความต้องการใช้ก๊าซฯราว 120-140 ล้านลบ.ฟ./วัน ซึ่งหากดำเนินการได้ทัน ก็พร้อมที่จะรับก๊าซฯเพิ่มเข้ามาได้ในช่วงปี 64

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยังได้มอบมายให้ PTT พิจารณาขยายคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 1 จากปัจจุบันที่ได้รับอนุมัติให้มีขีดความสามารถรองรับ LNG ได้ 11.5 ล้านตัน/ปี ให้เพิ่มเป็น 15 ล้านตัน/ปี ซึ่งต้องรอให้ PTT จัดทำแผนดังกล่าวมาก่อน รวมถึงยังสามารถเรียกก๊าซฯจากผู้ผลิตในประเทศให้เพิ่มขึ้นอีกได้ราว 70-80 ล้านลบ.ฟ./วันด้วย ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดเพื่อเตรียมรองรับวิกฤตก๊าซฯที่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 64-66


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ